ปรัชญา และ ศาสนา

Philosophy and Theology (www.saengtham.tk)

ศาสนาคริสต์บทที่ 6

Posted by JinSon on April 22, 2009

บทที่ 6
คริสต์ศาสนาในประเทศไทย
“ภาพรวมของคริสต์ศาสนาในประเทศไทยเป็นอย่างไร?”ตาม ที่ได้นำเสนอไปแล้วว่าศาสนาคริสต์มีศูนย์กลางอยู่ที่ความเชื่อในพระเจ้า เชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าและเชื่อในพระคัมภีร์ (ไบเบิ้ล) กาลเวลาทำให้ศาสนาคริสต์ค่อย ๆ พัฒนาสู่การเป็นศาสนาที่สำคัญศาสนาหนึ่งในโลก ปัจจุบันคริสต์ศาสนาแบ่งออกเป็นนิกาย/กลุ่มใหญ่ๆ 3 นิกาย/กลุ่ม คือ โรมันคาทอลิก ออร์โธด๊อก และโปรเตสแตนท์ สำหรับประเทศไทยมีคนที่นับถือศาสนาคริสต์ส่วนใหญ่เป็นโรมันคาทอลิกและโปรแตส เตนต์ ทั้งนี้ กรมศาสนาให้การรับรองศาสนาคริสต์โดยแบ่งเป็นห้ากลุ่ม ตามรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรของศาสนาคริสต์ในประเทศไทย ได้แก่

1) โรมันคาทอลิก
2) สภาคริสตจักรในประเทศไทย
3) สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย
4) สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย
5) คริสตจักรเซเว่นเดย์ แอ๊ดเวนติสแห่งประเทศไทย

1. นิกายที่สำคัญและประวัติความเป็นมาของคริสต์ศาสนาในประเทศไทย

คริ สตชนในประเทศไทยแบ่งได้เป็นสองนิกาย/กลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ โรมันคาทอลิกและโปรแตสเตนต์ และมีรูปแบบการบริหารองค์กรที่สำคัญห้ากลุ่มตามที่กรมศาสนารับรอง จึงขอนำเสนอประวัติความเป็นมาของกลุ่มต่างๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1.1 ศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก : ความเป็นมาและภาพรวมเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ โรมันคาทอลิก ในประเทศไทย
บาท หลวงธีรพล กอบวิทยากุล (2006) จากเอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง “ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของพระศาสนจักรในประเทศไทย” ได้สรุปความเป็นมาของศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกไว้ว่า มีจุดเริ่มต้นด้วยการเดินทางเข้ามาในสยามของชาวโปรตุเกส ในปี ค.ศ.1511 ภายใต้การนำของอัลฟองโซ อัลบูร์เคิร์ก ผู้แทนกษัตริย์โปรตุเกสที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินแห่ง อาณาจักรอยุธยา โปรตุเกสจึงเป็นชนยุโรปกลุ่มแรกที่มาถึงประเทศไทย ต่อมาชาวโปรตุเกสได้รับอนุญาตให้เริ่มงานเผยแผ่คริสต์ศาสนาในสยาม โดยมีมิสชันนารีสองท่านแรกที่มาถึงสยาม คือ บาทหลวงเยโรนิโม ดา ครู้ส และบาทหลวงเซบาสติอาว ดา กันโต ทั้งสองเป็นนักบวชคณะโดมินิกัน มาถึงสยามใน ค.ศ.1567 ต่อมามีมิสชันนารีคณะอื่นๆ เข้ามาอีกคือ คณะฟรังซิสกัน คณะเอากุสติเนียน และคณะเยสุอิต ในช่วงระหว่างค.ศ.1582 – 1767
ต่อมา พระสันตะปาปาเกรโกรี่ที่ 15 ทรงก่อตั้งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อในปี ค.ศ.1622 นับเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่องานประกาศศาสนาคริสต์ในประเทศไทยอย่าง ยิ่ง โดยสมณกระทรวงฯ จะรับภาระในการเผยแผ่คริสต์ศาสนาทั้งหมด พระสันตะปาปาทรงแต่งตั้ง “ผู้แทนพระสันตะปาปา” และส่งผู้แทนเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ผู้แทนพระสันตะปาปาที่ถูกส่งตัวมาในดินแดนภาคตะวันออกไกลได้แก่ มุขนายก ปีแอร์ ลังแบร์ต เดอ ลาม็อต มุขนายก ฟรังซัว ปัลลือ ซึ่งเป็นผู้นำคณะมิสชันนารีชาวฝรั่งเศส ซึ่งจะต้องไปทำงานในประเทศจีนและเวียดนาม บรรดามิสชันนารีชาวฝรั่งเศสกลุ่มนี้สังกัดคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1660 บรรดามิสชันนารีเดินทางมาด้วยความยากลำบาก มิสชันนารี ชุดแรก 17 ท่านที่ออกเดินทางมาในครั้งนั้น มาถึงอยุธยาเพียง 9 ท่าน เนื่องจากเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง และยังไม่สามารถเข้าไปในประเทศจีนและเวียดนามได้ เนื่องจากยังมีการเบียดเบียนศาสนาคริสต์ในสองประเทศดังกล่าว ในเวลานั้น ทั้งหมดจึงพักคอยอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ.1662 – 1664 ขณะเดียวกัน มีการประชุมเรื่องการประกาศคริสต์ศาสนาในหมู่มิสชันนารีที่อยุธยา หลังจากประชุมดังกล่าว พวกท่านตกลงจะเริ่มงานเผยแผ่คริสต์ศาสนาในสยาม ในช่วงนั้นอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งมีนโยบายเปิดประเทศต้อนรับคนต่างชาติ เพื่อติดต่อในด้านการค้าและการทูต คริสต์ศาสนามีความเจริญก้าวหน้าอย่างมากในช่วงสมัยนี้ สามารถตั้งสถาบันอบรมผู้เตรียมตัวเป็นบาทหลวง สร้างโบสถ์ ประกาศศาสนาได้อย่างเสรี มีคนที่สนใจและสมัครเข้าเป็นคริสตชนมากขึ้น จนพระสันตะปาปาฯ ทรงก่อตั้งและรับรองเขตปกครอง (มิสซังสยาม) ในปี ค.ศ.1674 โดยมีมุขนายก ลาโน เป็นประมุของค์แรก แต่ทว่าในช่วงรัชสมัยต่อมา เกิดการเบียดเบียนศาสนาขึ้น ทำให้การประกาศศาสนาหยุดชะงักไป และเหตุผลจากการมีมิสชันนารีเข้ามาทำงานไม่มาก ทำให้งานเผยแผ่คริสต์ศาสนาไม่ค่อยเกิดผลมากนัก จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในค.ศ.1767
คริสต์ศาสนา (โรมันคาทอลิก) เริ่มฟื้นตัวอีกครั้งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน หลังจากทรงกอบกู้เอกราชแล้ว ได้พระราชทานที่ดินเพื่อสร้างวัดให้กับมิสชันนารีและคริสตชนที่กลับเข้ามาใน ราชอาณาจักร ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ยังทรงต้อนรับมิสชันนารีอย่างดี เพราะพระองค์ต้องการเริ่มติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ และสนับสนุนเรื่องการค้าขายกับประเทศต่าง ๆ เหมือนกับที่เคยเป็นมาแต่ก่อน จากนี้เป็นต้นมา คริสต์ศาสนาในสยามค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย มีโบสถ์และจำนวนคริสตชนเพิ่มมากขึ้น ทั้งคริสตชนชาวสยามเอง คริสตชนที่มีเชื้อสายโปรตุเกส คริสตชนชาวเขมร ชาวญวน และชาวจีน การเพิ่มขึ้นของจำนวน คริสตชนและงานเผยแผ่คริสต์ศาสนา ประกอบกับอาณาเขตของมิสซังสยามอันกว้างใหญ่ไพศาลที่ยากต่อการเดินทาง ในปี ค.ศ.1841 พระสันตะปาปาฯ ทรงแบ่งมิสซังสยามออกเป็น 2 เขตปกครอง คือ มิสซัง “สยามตะวันตก” ประกอบด้วยสิงคโปร์ มะละกา ปีนัง มะริด และทวาย อยู่ในการปกครองของมุขนายกกูร์เวอร์ซี และมิสซัง “สยามตะวันออก” ซึ่งหมายถึงประเทศสยามนั้น อยู่ในการปกครองของมุขนายกปัลเลอกัว
มุขนา ยกปัลเลอกัว เป็นมุขนายกที่เฉลียวฉลาด มีความรู้ลึกซึ้งในศาสตร์และศิลป์แขนงต่างๆ มีความรู้ภาษาบาลีและภาษาไทยอย่างแตกฉาน ด้วยความสัมพันธ์อันดีที่ท่านมีต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งผลให้พระศาสนจักรในมิสซังสยามเจริญก้าวหน้าไปพร้อม ๆ การเปิดประเทศติดต่อกับชนชาติยุโรปมากขึ้น มีการทำสนธิสัญญาทางการค้าและสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับชนชาติต่าง ๆ มากมาย งานประกาศศาสนาในแผ่นดินสยามต้องถือว่าเป็นหนี้บุญคุณของมุขนายกปัลเลอกัว ท่านอุทิศตัวเองอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตอบสนองความต้องการของประชากรพระเจ้า ท่านได้สร้างวัดหลายแห่งในมิสซังสยาม จิตตารมณ์ในการเผยแผ่คริสต์ศาสนาของท่าน ความเข้าใจอันถ่องแท้ในวัฒนธรรม ประเพณี และเอกลักษณ์ของคนไทย มีความสำคัญอย่างมากต่อการวางรากฐานการเผยแผ่คริสต์ศาสนาให้ลึกซึ้งและเข้ม แข็งขึ้น เป็นต้น งานด้านอภิบาล การเทศน์สอน งานด้านสังคม และการให้การศึกษา
งานที่มุขนายกปัลเลอกัวได้เริ่มต้นไว้ จะเกิดผลในสมัยต่อมา นั่นคือ สมัยมุขนายกดือปองด์ และสมัยมุขนายกหลุยส์ เวย์ เป็นช่วงเวลาของการเจริญเติบโต โดยเฉพาะท่านได้เริ่มส่งมิสชันนารีไปเผยแผ่คริสต์ศาสนาในภาคตะวันออกเฉียง เหนือ อันเป็นจุดกำเนิดมิสซังภาคอีสานในปัจจุบัน เวลานั้นมีคริสตชนจำนวนกว่า 23,600 คน โบสถ์จำนวนมากมาย สถาบันศึกษาอบรมผู้เตรียมตัวเป็นบาทหลวงหลายแห่ง บาทหลวงชาวสยาม นักบวชชายและหญิง ครูสอนคริสตศาสนธรนรม วิทยาลัย 3 แห่ง โรงเรียนมากมายและโรงพยาบาล 1 แห่ง มีคณะนักบวชหลายๆ คณะเข้ามาทำงานในมิสซังมากขึ้น เช่น คณะพระกุมารเยซูเข้ามาในค.ศ.1885 คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร เข้ามาสยามในค.ศ.1898 รับผิดชอบงานที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ซึ่งมุขนายกเวย์ได้สร้างขึ้น และยังรับผิดชอบในการอบรมนักบวชหญิงพื้นเมือง ซึ่งพักอยู่ที่สามเสน เรียกว่า “คณะรักกางเขน” และโรงเรียนต่าง ๆ ในค.ศ.1901 โรงเรียนอัสสัมชัญถูกตั้งขึ้นภายใต้การดูแลของภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ตามคำเชิญของมุขนายกเวย์
มุขนายกเวย์ คิดถึงโครงการประกาศศาสนาในภาคเหนือของสยาม แต่สภาพแวดล้อม ความจำเป็นในด้านวัตถุ และบุคลากร ซึ่งมีอยู่น้อย งานนี้จึงบรรลุผลในช่วงสมัยมุขนายกแปร์รอส (ค.ศ. 1909-1947) มิสซังสยามขยายตัวมากขึ้น บรรดามิสชันนารีถูกส่งไปทางภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง ในสมัยนี้คริสต์ศาสนาแพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของสยาม ใน ค.ศ.1930 มีการแบ่งทางภาคใต้กลายเป็นมิสซังราชบุรี ภายใต้การดูแลของคณะซาเลเซียน มิสซังจันทบุรีก่อตั้งในค.ศ.1944 มิสซังเชียงใหม่ก่อตั้งใน ค.ศ.1960 ในสมัยนี้และต่อมาในสมัยมุขนายกหลุยส์ โชแรง มีคณะนักบวชอีกมากมายเข้ามาทำงานด้านต่าง ๆ ในประเทศไทย เช่น คณะอุร์สุลิน คณะคาร์แมล คณะซาเลเซียน คณะพระมหาไถ่ คณะสงฆ์พระหฤทัยแห่งเบธาราม คณะลาซาล คณะเยสุอิต คณะคามิล เลียน คณะศรีชุมพาบาล ฯลฯ รวมถึงคณะนักบวชใหม่ ๆ อีกมากมายที่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยต่อมา นอกนั้นยังมีความตื่นตัวในเรื่องกิจการฆราวาสแพร่ธรรม การก่อตั้งคณะกิจการแพร่ธรรมต่าง ๆ มากมายอีกด้วย
พระศาสนจักรคาทอลิกใน ประเทศไทยเจริญเติบโตขึ้นผ่านทางบรรดามุขนายก บาทหลวง มิสชันนารี และครูสอนศาสนาที่ทำงานอย่างกระตือรือร้น ทำให้งานเผยแผ่คริสต์ศาสนาเติบโตก้าวหน้ามากขึ้น สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะสถาปนาพระฐานานุกรมพระศาสนจักรในประเทศไทย ดังนั้นในปี ค.ศ.1965 อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และอัครสังฆมณฑลท่าแร่ หนองแสง ได้รับการสถาปนาขึ้น และต่อมาพระอัครสังฆราช (มุขนายก) ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู แห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้รับการสถาปนาเป็นพระคาร์ดินัลไทยองค์แรก ในปี ค.ศ.1983

ปัจจุบัน ประเทศไทยแบ่งการปกครองเป็น 10 เขตปกครอง (สังฆมณฑล) คือ 1. อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ 2. สังฆมณฑลราชบุรี 3. สังฆมณฑลจันทบุรี 4. สังฆมณฑลเชียงใหม่
5. สังฆมณฑลนครสวรรค์ 6. สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี 7. อัครสังฆมณฑลท่าแร่ หนองแสง
8. สังฆมณฑลอุบลราชธานี 9. สังฆมณฑลอุดรธานี 10. สังฆมณฑลนครราชสีมา แต่ละสังฆมณฑลมีมุขนายกที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระสันตะปาปา เป็นประมุขประจำสังฆมณฑล และประมุขสังฆมณฑลมีอำนาจหน้าที่ในเขตสังฆมณฑลของตน (ขึ้นตรงกับพระสันตะปาปา) และจะร่วมกันบริหารปกครองพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของ “สภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย” (Catholic Bishops Conference of Thailand) โดยมีสำนักงานศูนย์กลางอยู่ที่ เลขที่ 122/11 ซอยนาคสุวรรณ ถนนนนทรี ยานนาวา กรุงเทพฯ 10120

จำนวน ผู้นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกมีประมาณ 330,000 คน มีมุขนายกและบาทหลวงทั้งสิ้นราว 714 ท่าน ภราดา (บราเดอร์) 114 ท่าน ภคินี (ซิสเตอร์) 1,494 ท่าน วัด 471 แห่ง
1.2 ศาสนาคริสต์ โปรแตสเตนต์ : ความเป็นมาและภาพรวมเกี่ยวกับศาสนาคริสต์
โปรแตสเตนต์ ในประเทศไทย

ศาสนาคริสต์ โปรแตสเตนต์ เข้ามาครั้งแรกในสมัยอยุธยา แต่เข้ามาทำงานเผยแพร่จริงจังในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ปี พ.ศ.2371(ค.ศ.1828) กลุ่มมิชชันนารีที่เข้ามาเป็นกลุ่มจากประเทศอังกฤษ เยอรมันและสหรัฐอเมริกา เช่น กลุ่มลอนดอนมิชชันนารีโซไซเอ็ทตี้ กลุ่มอเมริกันเพรสไบทีเรียน ฯลฯ ซึ่งต่อมากลุ่มมิชชันนารีนี้จัดตั้งเป็นสภาคริสตจักรในประเทศ ในปีพ.ศ.2477 (ค.ศ.1934) นอกจากนั้นยังมีกลุ่มมิชชันนารีอื่น ๆ ที่เข้ามาแล้วจัดตั้งเป็นองค์การอีก 3 กลุ่มคือ สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทยในปีพ.ศ.2499 (ค.ศ.1956) สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในปีพ.ศ.2492 (ค.ศ.1949) และคริสตจักรวันเสาร์ (เซเว่นเดย์แอดเวนดิสต์) ปีพ.ศ.2449 (ค.ศ.1906) ในปี พ.ศ.2513 (ค.ศ.1970) ได้มีการประชุมเพื่อประกาศพระกิตติคุณครั้งที่ 1 ของ 3 องค์การแรก และตัดสินใจก่อตั้งคณะกรรมการเพิ่มพูนคริสตจักรในปีค.ศ.1972 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการประสานงานคริสตจักรโปรเตสแตนท์ใน ประเทศไทย (กปท.) ในปี พ.ศ.2531 (ค.ศ.1988) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือในการทำพันธกิจและศาสนกิจ เสริมสร้างความเป็นเอกภาพ และเป็นองค์การกลางในการประสานงานกับภาครัฐและภาคเอกชนอื่น โดยมีรายละเอียดในแต่ละองค์กรดังต่อไปนี้
1.2.1 สภาคริสตจักรในประเทศไทย (The Church of Christ in Thailand)
สภาคริสตจักรฯ เริ่มต้นมาจากมิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียนอเมริกัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้เข้ามาทำงานครั้งแรกในปี ค.ศ. 1840 ซึ่งได้รับการชักชวนจากศาสนาจารย์ จาคอบ ทอมลิน และนายแพทย์คาร์ล กุตสลาฟสังกัดสมาคมมิชชันนารีแห่งลอนดอน ต่อมาในปีค.ศ.1849 จึงได้ก่อตั้งคริสตจักรเพรสไบทีเรียนที่หนึ่งกรุงเทพฯ โดยนายแพทย์ซามูเอล เฮาส์ ศาสนาจารย์สตีเฟน และนางแมรี่ แมตตูน และได้เริ่มเผยแพร่ออกไปยังภูมิภาค ภายหลังได้ตั้งศูนย์มิชชั่นของมิชชันนารี่คณะเพรสไบทีเรียนอเมริกันสองแห่ง คือ “มิชชั่นสยาม” ที่กรุงเทพฯ และดูแลคริสตจักรในหลาย ๆ จังหวัดทางภาคกลาง และภาคใต้ เช่น เพชรบุรี อยุธยา ราชบุรี กับ “มิชชั่นลาว” ที่เชียงใหม่ ซึ่งดูแลคริสตจักรในภาคเหนือ
จากการร่วมมือใน พันธกิจระหว่างมิชชันสยามกับมิชชันลาวในปี ค.ศ.1913 จึงเกิดคณะกรรมการร่วมของศูนย์มิชชั่นขึ้นเรียกว่า “คณะกรรมการร่วมแห่งศูนย์มิชชั่นสยามใต้และสยามเหนือ” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการร่วมแห่งสยาม” มีการรวมศูนย์มิชชั่นอย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1920 เรียกว่า “คณะมิชชั่นสยาม” ในที่สุดได้จัดตั้ง “สยามคริสตสภา” ขึ้นในวันที่ 6 มกราคม 1930 โดยมีกรรมการอำนายการมาจากมิชชั่นเพรสไบทีเรียนอเมริกันในประเทศไทย คณะเชิร์ชออฟไคร์ซ(ของอังกฤษ) คณะเอส พี จี สมาคมพระคริสต ธรรมอเมริกันและผู้แทนเพรสไบทีเรียน(คริสเตียนไทย) รวม 18 คน ในปีค.ศ 1932 ได้มีการรวมเพรสไบเทอรี่สยามและลาวเพื่อจัดตั้งองค์กรปกครองคริสตจักรไทยที่ เป็นอิสระ มีการประชุมเพื่อก่อตั้งสภาคริสตจักรฯ ครั้งแรกในปี ค.ศ 1934 และใช้ชื่อในครั้งแรกว่า “สภาคริสตจักรในประเทศสยาม” โดยมีคริสตจักรของคณะเพรสไบทีเรียนอเมริกันและคริสตจักรจีนของคณะแบ๊บติสต์ ร่วมในการก่อตั้ง และได้เปลี่ยนชื่อจากสภาคริสตจักรในสยามเป็น “สภาคริสตจักรในประเทศไทย” ตามการเปลื่ยนชื่อประเทศของรัฐบาล
ปัจจุบัน สภาคริสตจักรในประเทศไทยแบ่งเขตการปกครองเป็น 19 ภาค มีสมาชิกประมาณ 130,000 คน มีคริสตจักร หมวดคริสเตียน และศาลาธรรมประมาณ 900 แห่ง กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย (ข้อมูลจากปฏิทินสภาคริสตจักรในประเทศไทย ค.ศ. 2003) สำนักงานศูนย์กลางตั้งอยู่ที่เลขที่ 328 ถนนพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ
1.2.2 สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย (The Evangelical Fellowship of Thailand) (สคท.)
สห กิจคริสเตียนแห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1956 จากการประชุมพบปะกันของผู้นำองค์การมิชชันนารีและผู้นำคริสตจักรไทย ซึ่งมิได้สังกัดอยู่กับสภาคริสตจักรฯ และกลุ่มนี้เรียกว่า กลุ่มอีแวนเจลลิคอล (Evangelical) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้ง “The Evangelical Fellowship of Thailand” โดยกรมศาสนาให้การรับรอง สหพันธกิจคริสเตียน หรือสหสัมพันธกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทยเป็นองค์การทางศาสนา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1969 เป็นองค์กรที่ 3 ของศาสนาคริสต์ ต่อจากจาก คาทอลิก และ สภาคริสตจักรในประเทศไทย และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย” ชื่อย่อว่า “สคท.” และชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Evangelical Fellowship of Thailand” ในเวลาต่อมา โดยภายหลังจากที่ได้จดทะเบียนเป็นองค์กรทางคริสต์ศาสนาแล้ว สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทยจึงเปิดรับสมาชิกเข้าในสังกัด โดยมีสมาชิก 4 ประเภท คือ องค์การมิชชันนารีจากต่างประเทศ องค์กรที่จัดตั้งขึ้นในประเทศ (ซึ่งต่อมาให้เรียกเป็นประเภทเดียวคือ สมาชิกประเภทองค์กร) สมาชิกที่เป็นคริสตจักร และสมาชิกรายบุคคล
คณะคริสเตียนแอนด์ มิชชันนารี อไลแอนซ์ (ซี.เอ็ม.เอ) เป็นคณะมิชชันนารีแรกที่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2472 (ค.ศ.1929) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ค ณะ ซี.เอ็ม.เอ. ได้ร่วมงานกันคริสตจักรพระกิตติคุณ ตั้งโรงพยาบาลโรคเรื้อนที่ขอนแก่นในปี พ.ศ.2497 (ค.ศ.1981) คณะ ซี.เอ็ม.เอ.ร่วมกับองค์การโอเวอร์ซีมิชชันนารีเฟลโลชิพ(โอ.เอ็ฟ.เอ็ม) ตั้งศูนย์ศึกษาพระคริสตธรรมกรุงเทพฯBangkok Bible College(บี.บี.ซี.)ในปีพ.ศ.2514(ค.ศ.1971) เพื่อฝึกอบรมความรู้ในด้านต่าง ๆ สำหรับผู้ทำงานรับใช้พระเจ้าในคริสตจักร ต่อมาในปีพ.ศ.2518 (ค.ศ.1975)ได้เริ่มหลักสูตรในระดับปริญญาโทและได้จัดตั้งเป็นสถาบันพระคริสต ธรรมกรุงเทพและเพิ่มชื่อภาษาอังกฤษเป็น Bangkok Bible College&Seminary (บี.บี.ซี.เอส.) และยังมีคณะอื่นๆ อีกหลายคณะที่แจ้งชื่อคริสตจักรไว้ในทะเบียน ของ สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย
สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย มีคณะกรรมการบริหาร ซึ่งดำเนินงานตามวัตถุประสงค์หลักของธรรมนูญ คือ ส่งเสริมการประสานงานและร่วมมือขององค์การสมาชิก ส่งเสริมการเผยแพร่ศาสนา การผลิตและการใช้สื่อมวลชน การสังคมสงเคราะห์โดยสมาชิกแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทองค์การ และประเภท คริสตจักร โดยสมาชิกประเภทคริสตจักร แบ่งย่อยออกเป็นคริสตจักรแม่ และคริสตจักรลูก ส่วนสมาชิกประเภทองค์การแยกตามพันธกิจได้ 8 ประเภท คือ 1) ด้านการประกาศเพื่อตั้งคริสตจักร 2) ด้านการประกาศ และร่วมรับใช้คริสตจักร 3) ด้านสังคมสงเคราะห์ 4) ด้านวรรณกรรม 5) ด้านวิทยุโทรทัศน์ 6) ด้านการศึกษา 7) ด้านการแพทย์ 8) ด้านการประกาศและสังคมสงเคราะห์
ปัจจุบัน (ข้อมูล ค.ศ. 2006) มีสมาชิกที่เป็นมิสชันนารี 800 ท่าน มีคริสตจักรในสังกัด 1,200 แห่งและมีสมาชิกประมาณ 100,000 คน มีองค์กรในสังกัด 110 คณะ สำนักงานศูนย์กลางตั้งอยู่ที่เลขที่ 64/1 ถนนรามคำแหง ซอย 22 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240
1.2.3 สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย(Foreign Mission Board)
เริ่ม ต้นจากมิชชันนารี 13 คน ซึ่งเคยทำงานที่ประเทศจีน ขององค์การฟอเรนมิชชั่น บอร์ด เอส.บี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาทำงานเผยแพร่ในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2492 (ค.ศ.1949) หลังจากนั้นได้สร้างคริสตจักรเพื่อเป็นสถานที่ประกาศ ใกล้กับถนนเสือป่า โดยใช้ชื่อ คริสตจักรแบ๊บติสต์กรุงเทพ ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นคริสตจักรพระคุณคณะแบ๊บติสต์ในเวลาต่อมา และมีสถานที่นมัสการที่ถนนดินสอ สร้างอาคารใหม่ที่ถนนสุขุมวิท ซอยวัฒนา และได้ขยายงานออกไปอีก 11 จังหวัด
สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทยแบ่งการบริหารงาน ออกเป็น 2 หน่วยงานใหญ่ คือ หน่วยงานส่วนกลาง และหน่วยงานส่วนภูมิภาค
ก. หน่วยงานส่วนกลางแบ่งย่อยออกเป็น 6 หน่วยคือ 1) สื่อมวลชน 2) คริสเตียนศึกษา 3) โรงเรียนพระคริสตธรรม 4) ศูนย์รวมนักศึกษาแบ๊บติสต์ 5) ร้านหนังสือแบ๊บติสต์บุ๊คสโตร์ 6) งานสังคมสงเคราะห์
ข. หน่วยงานภูมิภาค แบ่งออกเป็น 4 หน่วยงานคือ 1) โรงพยาบาลคริสเตียนบางคล้า 2) คลีนิคโรคเรื้อนชลบุรี 3) ค่ายอบรมคริสเตียน ชลบุรี 4) หน่วยงานสังคมสงเคราะห์
มีศาสนสถาน ในส่วนกลางเช่น คริสตจักรอันติโอเกีย คริสตจักรความหวังใหม่ ฯลฯ ในส่วนภูมิภาค เช่น คริสตจักรอยุธยา คริสตจักรบางคล้า คริสตจักรหาดใหญ่ ฯลฯ ปัจจุบันมีคริสตจักร 48 แห่ง มีสมาชิก 5,000 คน (ค.ศ. 2001) สำนักงานศูนย์กลางอยู่ที่เลขที่ 90 ถนนสุขุมวิท ซอย 2 คลองเตย กรุงเทพฯ 10110
1.2.4 มูลนิธิคริสตจักรวันเสาร์แห่งประเทศไทย (เซเว่นเดย์ แอ๊ดเวนติส) (Seventh-Day Adventist of Thailand)
ประวัติการ ก่อตั้งโดย บรรณกร (ผู้ประกาศกิตติคุณโดยการจำหน่ายหนังสือ) ท่านแรก ได้เข้ามาในประเทศไทยในปี พ.ศ.2449 (ค.ศ.1906) เพื่อจำหน่ายแจกจ่ายหนังสือในกรุงเทพฯ ต่อมามีบรรณกรจากสิงค์โปร์เข้ามาอีก 10 ท่าน เพื่อจำหน่ายหนังสือและหนุนน้ำใจสมาชิกซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีน ต่อมาจึงมีศาสนทูตเข้ามาเผยแพร่พระกิตติคุณและตั้งสำนักงานมิชชันขึ้น และแปลนิตยสารภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยใช้ชื่อว่า หนังสือชูชาติ พร้อมทั้งตั้งสำนักงานมิชชันขึ้นที่อุบลราชธานีด้วย เริ่มสร้างโรงเรียนมิชชั่นที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2495 (ค.ศ.1932) เพื่อสอนศาสนาให้นักเรียน หลังจากนั้นมีการขยายงานด้านการแพทย์ ไปที่อุบลราชธานี ภูเก็ต และหาดใหญ่ และเริ่มงานด้านทันตแพทย์ที่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2491 (ค.ศ.1932) เริ่มเปิดการสอนพระคริสตธรรมคัมภีร์ทางไปรษณีย์และเริ่มเทศนาทางวิทยุกระจาย เสียงครั้งแรกในปี พ.ศ.2505 (ค.ศ.1962) ซึ่งในปีนั้นเองได้สร้างที่ทำการของคริสตจักรขึ้นที่ซอยโรงเรียนเกษมพาณิช การ ถนนคลองตัน เขตพระโขนง และยังมีสำนักพิมพ์ข่าวประเสริฐขึ้นที่นั่นด้วย
การบริหารงาน แบ่งเป็น 5 ระดับ ดังนี้คือ 1) สำนักงานใหญ่ 2) ดิวิชั่น 3) ยูเนี่ยน 4) มิชชั่น และ 5)โบสถ์
คริ สตจักรวันเสาร์ทั่วโลกแบ่งออกเป็น 13 ดิวิชั่น ประกอบด้วย 2 ยูเนี่ยน ส่วนมิชชั่นเป็นหน่วยงานที่ควบคุมการทำงานในอาณาบริเวณหนึ่งซึ่งอาจมีขนาด เป็นรัฐหนึ่งหรือประเทศหนึ่ง ขึ้นกับขนาดของอาณาบริเวณนั้น และจำนวนสมาชิกในแต่ละมิชชั่น มีคณะกรรมการบริหารงานซึ่งประกอบไปด้วยประธานกรรมการ เลขาธิการ เหรัญญิก หัวหน้าแผนกต่างๆ ผู้อำนวยการโรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนจารย์ และสมาชิกโบสถ์ที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการหัวหน้าแผนกต่างๆ ของมิชชั่น จะถูกเลือกโดยผู้แทนจากโบสถ์ต่างๆ ที่อยู่ภายในมิชชั่นนั้นทุกๆ ปี ทางมิชชั่นเป็นผู้พิจารณามอบหมายศาสนจารย์ ให้เป็นผู้ดำเนินงานในโบสถ์ร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ สมาชิกของโบสถ์ทำหน้าที่เลือกเจ้าหน้าที่แผนกต่างๆ ของโบสถ์เองทุกปี มีคริสตจักรในสังกัด 30 แห่ง และสมาชิก 7,000 คน (ข้อมูลปี ค.ศ. 2001) สำนักงานศูนย์กลางอยู่ที่เลขที่ 12 ซอยปรีดี พนมยงค์ 37 สุขุมวิท 71 คลองตันเหนือ วัฒนา กรุงเทพฯ 10110

2. โครงสร้างการบริหารของคริสต์ศาสนาในประเทศไทย

โครง สร้างการบริหารศาสนาคริสต์ในประเทศไทยดำเนินไปตามรูปแบบของแต่ละกลุ่ม/นิกาย ในที่นี้ขอนำเสนอเฉพาะศาสนาคริสต์ โรมันคาทอลิก ส่วนโปรแตสเตนต์ เนื่องจากมีหลากหลาย จึงขอนำเสนอโดยยกตัวอย่างเฉพาะโครงสร้างการบริหารของสภาคริสตจักรในประเทศ ไทย ดังรายละเอียดต่อไปนี้
2.1 ระบบ โครงสร้างและเขตปกครองของศาสนาคริสต์ โรมันคาทอลิกในประเทศไทย
ศาสนา คริสต์ โรมันคาทอลิกทุกประเทศทั่วโลก มีระบบโครงสร้างการบริหารเป็นแบบเดียวกัน ภายใต้อำนาจของพระสันตะปาปา (มุขนายกแห่งโรม/ผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร) ดังรายละเอียดต่อไปนี้
2.1.1 ตำแหน่งในด้านการบริหารปกครอง
จาก ธรรมประเพณี (Tradition) ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจากอัครสาวกและผู้สืบทอดตำแหน่งของพวกท่าน ซึ่งพัฒนาเป็นประมวลกฏหมายของพระศาสนจักรคาทอลิก (Canon Law) ซึ่งได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งการบริหารปกครองพระศาสนจักรโดยเน้น บทบาทของผู้ที่พระเจ้าเลือกสรรเป็นพิเศษสู่การเป็นศาสนบริกรสงฆ์ให้ทำ หน้าที่บริหารปกครองพระศาสนจักร ดังต่อไปนี้
ก. พระสันตะปาปา มีตำแหน่งทางการปกครอง คือเป็นประมุขของพระศาสนจักรคาทอลิก ดูแลคริสตชนทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันคือ พระสันตะปาปา เบเนดิกที่ 16
ข. พระคาร์ดินัล มีตำแหน่งเป็นเจ้าชายแห่งโรม คือมีสิทธิ์ที่จะได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาได้ ซึ่งในประเทศไทยก็มีตำแหน่งพระคาร์ดินัล โดยมีสมศักดิ์เป็นพระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ คือ พระคาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู
ค. มุขนายก (พระสังฆราช – พระอัครสังฆราช) เป็นตำแหน่งในการปกครองแต่ละเขตหรือแต่ละสังฆมณฑลในพื้นที่ต่างๆ ของแต่ละประเทศ ตำแหน่งมุขนายก เป็นตำแหน่งของการปกครองในเขตพื้นที่หรือในแต่ละสังฆมณฑลโดยถือว่าตำแหน่ง มุขนายกมีอำนาจสูงสุดเป็นประมุขของท้องถิ่นในเขตนั้นๆ ปกครองดูแลบรรดา ศาสนบริกรสงฆ์ สังฆานุกร ฆราวาสที่อยู่ในเขตนั้นๆ ทั้งหมดเป็นผู้กระทำพิธีบวชศาสนบริกรสงฆ์ และสังฆานุกรให้มีสมณศักดิ์สงฆ์
ง. บาทหลวง เป็นสมณศักดิ์ที่ได้รับการบวชจากมุขนายกมีหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่มุขนายกมอบหมายแต่งตั้งให้ปกครองดูแลวัดต่างๆ ในแต่ละเขตพื้นที่ จะมีจำนวนวัดมากหรือน้อย แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับจำนวน คริสตชนที่มีความเชื่อ ความศรัทธาในเขตนั้นๆ หรืออาจจะปฏิบัติหน้าที่ ในด้านต่างๆ เช่นงานบริหารโรงเรียน หรือบริหารองค์กรทางศาสนาฯลฯ
จ. สังฆานุกร เป็นตำแหน่งสงฆ์ขั้นแรก ทำหน้าที่ภายใต้ความดูแลเอาใจใส่ของบาทหลวงเจ้าอาวาส ที่จะคอยดูแลเอาใจใส่ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่พันธกิจต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ พระศาสนจักรคาทอลิก ในฐานะเป็นสังฆานุกร
2.1.2 แผนภูมิอำนาจหน้าที่ในการบริหารปกครอง
จากประมวลกฎหมายพระศาสนจักร (ค.ศ. 1983) กำหนดให้การบริหารปกครองพระศาสนจักรคาทอลิกเป็นแบบเดียวกันทั่วโลก โดยแบ่งย่อยได้สามส่วนคือ
ก. พระศาสนจักรโรมันคาทอลิกสากล (ส่วนกลาง)
มีแผนภูมิโครงสร้างการบริหารปกครองสังเขปได้ดังนี้

พระสันตะปาปา

สมณกระทรวง สมณกระทรวง สมณกระทรวง สมณกระทรวง

สำนักเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศ…

สภาประมุขแห่งบาทหลวงฯ แต่ละประเทศ

จาก แผนภูมิที่แสดงให้เห็นการบริหารงานของพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ว่ามีพระสันตะปาปาเป็นประมุขสูงสุด และพระองค์บริหารงานผ่านทางสมณกระทรวงต่าง ๆ และทรงส่งผู้แทนของพระองค์ (เอกอัครสมณทูตประจำประเทศหรือหลาย ๆ ประเทศ) และในแต่ละประเทศจะมีการจัดตั้งสภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิก เพื่อการบริหารปกครองพระศาสนจักรในประเทศนั้น ๆ จะได้เป็นเอกภาพ ตามแนวทางพระศาสนจักรสากล

ข. พระศาสนจักรโรมันคาทอลิกประจำแต่ละประเทศ
มีแผนภูมิโครงสร้างการบริหารปกครองสังเขปได้ดังนี้

สภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศ…

คณะกรรมการดำเนินงานสภาฯ

จากแผนภูมิที่แสดงให้เห็นการบริหารงานอธิบายได้ดังนี้
1) สภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรทาง ด้านการปกครองสูงสุด ซึ่งดูแลคริสตชนทั่วประเทศไทย
2) มีคณะกรรมการดำเนินงานของสภาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานต่างๆ ทั้งหมด ในระดับประเทศ
3) ในสำนักงานสภาฯ จะมีเลขาธิการสภาฯและรองเลขาธิการสภาฯ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบและแบ่งงานออกเป็น 3 ฝ่าย คือ
3.1) สำนักเลขาธิการ
3.2) สำนักนโยบาย
3.3) สำนักงบประมาณและทรัพยากรบุคล
4) ในสำนักนโยบายจะประกอบไปด้วยกรรมมาธิการ 4 ฝ่ายคือ
4.1) กรรมาธิการฝ่ายอภิบาลคริสตชน
4.2) กรรมาธิการฝ่ายธรรมทูตและการศึกษาคาทอลิก
4.3) กรรมาธิการฝ่ายสังคม
4.4) กรรมาธิการฝ่ายสื่อสารสังคม

ค. พระศาสนจักรโรมันคาทอลิกประจำท้องถิ่น (แต่ละสังฆมณฑล)
แผนภูมิโครงสร้างการบริหารปกครองพระศาสนจักรท้องถิ่น (สังฆมณฑล) จะมีลักษณะที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน พอสรุปได้ดังนี้

มุขนายก

อุปสังฆราช คณะที่ปรึกษา

คณะกรรมการ คณะกรรมการ คณะกรรมการ คณะกรรมการ คณะกรรมการ คณะกรรมการ
ฝ่ายการปกครอง ฝ่ายงานอภิบาล ฝ่ายบุคคลาภิบาล ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายสังคม ฝ่ายการเงินฯ
วัด

บาทหลวง
เจ้าอาวาส-ผู้ช่วย

การ ปกครองในระดับท้องถิ่นหรือสังฆมณฑลอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองดูแลของมุขนายก ในแต่ละเขตพื้นที่หรือของแต่ละสังฆมณฑลนั้น ๆ เป็นผู้รับผิดชอบ เช่น อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ก็มีผู้ดูแลรับผิดชอบคือ พระอัครสังฆราช (พระคาร์ดินัล) มีชัย กิจบุญชู และในโครงสร้างการบริหารงานยังประกอบด้วยบุคลากรในส่วนต่าง ๆ ได้แก่
1) คณะที่ปรึกษามุขนายก มีหน้าที่ให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆ ที่มุขนายกจะทำการตัดสินใจในการบริหารงานของสังฆมณฑล
2) สภาบาทหลวง มีหน้าที่ในการดูแลเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของสงฆ์การแนะนำให้คำปรึกษาด้าน สวัสดิการ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ของบาทหลวงที่พึงปฏิบัติ
3) ผู้ช่วยมุขนายกฝ่ายต่างๆ หรือผู้อำนวยการฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหารสังฆมณฑล ได้แก่ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและทรัพย์สิน ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายการปกครองวัด ฝ่ายสังคม ฝ่ายอภิบาลและแพร่ธรรม ฝ่ายบุคลาภิบาล
4) บาทหลวงเจ้าอาวาส/ผู้ช่วยเจ้าอาวาส มีหน้าที่ดูแลวัดที่ตนรับผิดชอบ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากมุขนายก ประมุขของสังฆมณฑลหรือของเขตนั้นๆ ที่ศาสนบริกรสงฆ์สังกัดอยู่ ดูแลบรรดาสัตบุรุษและกิจกรรมต่างๆ ของวัดทั้งหมดให้ดำเนินไปด้วยดี
5) นักบวชชาย – หญิง ในคณะต่าง ๆ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระ ศาสนจักรคาทอลิก โดยมีอธิการเจ้าคณะหรือ มหาธิการิณี ฯลฯ เป็นผู้นำหรือหัวหน้าของคณะนักบวชนั้น ๆ ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ประจำวัด โรงเรียนหรือในองค์กรของศาสนาในหลายรูปแบบ
6) ฆราวาส ได้แก่ผู้รับพิธีล้างบาปแล้ว ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในความเป็น คริสตชน มีบทบาทในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพระศาสนจักรภายใต้การนำของมุขนายกและบาท หลวง-นักบวช
2.1.2 เขตปกครอง (สังฆมณฑล) ของพระศาสนจักรคาทอลิก ในประเทศไทย
สำหรับ พระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ประเทศไทย สันตะสำนัก ได้แบ่งเขตปกครอง (สังฆมณฑล) ออกเป็นสิบเขต (สังฆมณฑล) ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ก. อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ครอบคลุมในการปกครองดูแลคริสตชนในเขตจังหวัดกรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา (บางส่วน) และนครนายก (บางส่วน)
ข. อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ครอบคลุมในการปกครองดูแลคริสตชนในเขตจังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ นครพนมและมุกดาหาร
ค. สังฆมณฑลเชียงใหม่ ครอบคลุมในการปกครองดูแลคริสตชนในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูนและแม่ฮ่องสอน
ง. สังฆมณฑลจันทบุรี ครอบคลุมในการปกครองดูแลคริสตชนในเขตจังหวัดจันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา (บางส่วน) และนครนายก (บางส่วน)
จ. สังฆมณฑลราชบุรี ครอบคลุมในการปกครองดูแลคริสตชนในเขตจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงครามและเพชรบุรี
ฉ. สังฆมณฑลนครสวรรค์ ครอบคลุมในการปกครองดูแลคริสตชนในเขตจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ชัยนาท ตาก พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี สุขทัย อุทัยธานี และอุตรดิตถ์
ช. สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี ครอบคลุมในการปกครองดูแลคริสตชนในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี นราธิวาสและยะลา
ซ. สังฆมณฑลนครราชสีมา ครอบคลุมในการปกครองดูแลคริสตชนในเขตจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิและบุรีรัมย์
ฌ. สังฆมณฑลอุบลราชธานี ครอบคลุมในการปกครองดูแลคริสตชนในเขตจังหวัดอุบลราชธานี มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์และอำนาจเจริญ
ญ. สังฆมณฑลอุดรธานี ครอบคลุมในการปกครองดูแลคริสตชนในเขตจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น เลย หนองคายและหนองบัวลำภู

2.2 ระบบการบริหารปกครองศาสนาคริสต์ โปรแตสเตนต์ในประเทศไทย
ใน การนำเสนอสาระในเอกสารประกอบการสอนชุดนี้ ขอนำเสนอระบบการบริหารปกครองคริสตชนโปรแตสเตนต์ โดยนำเสนอตัวอย่างจากระบบการบริหารปกครองตามแนวสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย โดยสภาคริสตจักรในประเทศไทยในปัจจุบัน มีการดำเนินการภายใต้ “ธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ค.ศ. 1998” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
2.2.1 ความเป็นมาของธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ค.ศ. 1998
มิชชันนารี นิกายโปรแตสเตนต์เริ่มดำเนินการประกาศพระกิตติคุณในประเทศไทย ตั้งแต่ปี ค.ศ.1828 จนสามารถตั้งคริสตจักร และทำพันธกิจต่างๆ ที่เด่นชัดในสังคมไทย เช่น พันธกิจด้านการศึกษา พันธกิจด้านการรักษาพยาบาล และพันธกิจด้านอื่นๆ มาเป็นระยะเวลาหนึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1934 จึงมีการก่อตั้งสภาคริสตจักรในประเทศไทยขึ้น และมิชชันนารีได้มอบพันธกิจให้คนไทยรับผิดชอบดูแลด้วยวิธีการเลี้ยงตนเอง ปกครองตนเอง และประกาศพระกิตติคุณด้วยตนเอง โดยมีธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองมาโดยตลอดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีการใช้ธรรมนูญ รวม 5 ฉบับ ดังนี้
ฉบับที่ 1 คริสตธรรมนูญ และกฎปกครองแห่งคริสตจักรในสยาม ค.ศ. 1934
ฉบับที่ 2 คริสตธรรมนูญ และกฎปกครองแห่งคริสตจักรในประเทศไทย ค.ศ.1934 และแก้ไข ปี ค.ศ. 1941
ฉบับที่ 3 ธรรมนูญ และกฎการปกครองแห่งคริสตจักรในประเทศไทย ค.ศ.1952
ฉบับที่ 4 ธรรมนูญ กฎการปกครอง บทวินัย และข้อบังคับการประชุม
แห่งคริสตจักรในประเทศไทย ค.ศ. 1970
ฉบับที่ 5 ธรรมนูญแห่งคริสตจักรในประเทศไทย ค.ศ. 1974
แสดง ว่าธรรมนูญย่อมเปลี่ยนแปลงได้ ตามความเหมาะสมแห่งกาลเวลา และสภาวการณ์ของคริสตจักร ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1980 จึงได้มีการเสนอให้แก้ไขปรับปรุงธรรมนูญแห่งคริสตจักรในประเทศไทย ค.ศ. 1974 โดยให้มีการแยกธรรมนูญ และระเบียบปฏิบัติออกจากกันให้ชัดเจน จุดประสงค์ก็เพื่อให้ธรรมนูญเป็นหลักที่แน่นอน ไม่ต้องแก้ไขบ่อยๆ ส่วนระเบียบปฏิบัติ สามารถแก้ไขได้ตามความจำเป็น และตามสภาวการณ์ของบ้านเมือง
สมัชชาสภาคริสตจักรในประเทศไทย ประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 24 ได้มีมติที่ สคท. 14/1996 มอบหมายให้กรรมการอำนวยการสภาคริสตจักรในประเทศไทย ดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติมร่างธรรมนูญแห่งคริสตจักรในประเทศไทย ฉบับปี ค.ศ. 1994 จึงได้มีการแต่งตั้งกรรมการแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติม ร่างธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรในประเทศ ไทย จำนวน65 คน เรียกชื่อย่อว่า “กก. ธ. – 65” ประกอบด้วย
– ผู้แทนจากคริสตจักรภาค 19 ภาค จำนว 38 คน (ภาคละ 2 คน เป็นฆราวาส 1 คน ศาสนาจารย์ 1 คน)
– ผู้แทนจากหน่วยงาน 16 หน่วยงาน จำนวน 16 คน
– ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน
– ผู้แทนจากส่วนกลาง จำนวน 2 คน
ให้ ทำหน้าที่จัดทำร่างธรรมนูญ และระเบียบปฏิบัติของธรรมนูญ ฉบับใหม่ทั้งฉบับ ต้องกำหนดกฎเกณฑ์สำคัญที่กระจ่างแจ้ง ชัดเจน สามารถใช้เป็นหลักในการปกครองของสภาคริสตจักรในประเทศไทย และเป็นแนวทางในการจัดทำระเบียบอื่น ๆ คณะกรรมการแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติมร่างธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ได้นำเสนอพิจารณาตามลำดับขั้นตอน จนกระทั่งสมัชชาสภาคริสตจักรในประเทศไทย ได้มีการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 1/1998 วันที่ 5 – 7 เดือนพฤษภาคม คริสตศักราช 1998 มีมติให้ใช้ธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ค.ศ. 1998 แทนธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ค.ศ. 1974 ตั้งแต่วันที่ 8 เดือน พฤษภาคม คริสตศักราช 1998 เป็นต้นไป
2.2.2 เนื้อหาสาระของธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ค.ศ. 1998
หมวดที่ 1
นาม วัตถุประสงค์ และเงื่อนไขความสัมพันธ์
ข้อ 1 ให้เรียกนามคริสตจักรนี้ว่า “สภาคริสตจักรในประเทศไทย” เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “ The Church of Christ in Thailand ”
สภาค ริสตจักรในประเทศไทย คือ องค์กรทางศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสเตนต์ ที่รวมตัวกันเพื่อทำพันธกิจของพระเจ้าในประเทศไทย อันประกอบด้วยพันธกิจด้านการประกาศเผยแพร่พระกิตติคุณ พันธกิจด้านการศึกษา พันธกิจด้านการรักษาพยาบาล และพันธกิจอื่นๆ โดยมีหลักข้อเชื่อ ข้อปฏิบัติ และธรรมนูญเดียวกัน อยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน ด้วยวิธีการเลี้ยงตนเอง ปกครองตนเอง และประกาศพระกิตติคุณด้วยตนเอง
ข้อ 2 สภาคริสตจักรในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ดังนี้
2.1 เพื่อรวบรวมคริสเตียนทั้งหลายในประเทศไทยให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
2.2 เพื่อให้มีความสัมพันธ์ช่วยเหลือและเกื้อกูลซึ่งกันและกันในการรับใช้พระ เจ้า และสังคม ตามน้ำพระทัยของพระองค์ และสร้างเสริมพันธกิจให้เจริญเติบโตมั่นคงยิ่งขึ้น
2.3 เพื่อให้คริสตจักรมีสง่าราศี และเทิดทูนพระสิริของพระเจ้า
2.4 เพื่อรวบรวมทรัพย์ทั้งปวงของสภาคริสตจักรในประเทศไทยให้อยู่ภายใต้การดูแล ของมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย หรือมูลนิธิที่สภาคริสตจักรในประเทศไทยมีมติให้ตั้งขึ้น
ข้อ 3 คริสตจักรหรือคณะใด ที่ยอมรับปฏิบัติตามธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยและประสงค์เข้าเป็น สมาชิก ก็ให้รับเข้าเป็นสมาชิกคริสตจักรเพื่อร่วมทำพันธกิจในสภาคริสตจักรในประเทศ ไทยได้ โดยอาจคงไว้ซึ่งหลักข้อเชื่อเดิม และธรรมเนียมศาสนพิธีเดิม แต่ต้องไม่ขัดต่อหลักข้อเชื่อในธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย และระเบียบปฏิบัติของธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย
หมวดที่ 2
ข้อ 4 สภาคริสตจักรในประเทศไทย มีหลักข้อเชื่อ ดังนี้
4.1 เชื่อร่วมกันตามความในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและภาคพันธสัญญาใหม่เป็นหลัก
4.2 เชื่อและยอมรับหลักข้อเชื่อของอัครธรรมทูต (The Apostles’ Creed)
“ข้าพเจ้า เชื่อวางใจในพระเจ้าพระบิดาผู้ทรงฤทธิ์สูงสุดผู้ทรงสร้างฟ้า และโลก ข้าพเจ้าเชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์ พระบุตรองค์เดียวของพระบิดา ทรงปฏิสนธิโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทรงกำเนิดจากมารีย์สาวพรหมจารี ทรงทนทุกข์ทรมานในสมัยที่ปอนทิอัส ปิลาตปกครอง ทรงถูกตรึงที่กางเขนแล้วมรณา ทรงถูกบรรจุไว้ในอุโมงค์ เสด็จสู่แดนมรณาในวันที่สามทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย พระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์ประทับ ณ เบื้องขวาของพระเจ้า ผู้ทรงฤทธิ์ที่สุด จากที่นั่นพระองค์จะเสด็จมาพิพากษาคนเป็นและคนตาย ข้าพเจ้าเชื่อวางใจในพระวิญญาณบริสุทธิ์ และเชื่อมั่นในสากลคริสตจักรบริสุทธิ์ ในการร่วมสมานฉันท์ระหว่างธรรมมิกชน การอภัยโทษบาป การที่กายคืนชีพและสมบูรณ์ชีพนิรันดร์ อาแมน”
4.3 เชื่อและยอมรับหลักข้อเชื่อของไนเซีย (Nicene Creed)
“ข้าพเจ้า เชื่อวางใจในพระเจ้าองค์เดียว พระบิดาผู้ทรงฤทธิ์ที่สุด ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์ และโลก และทุกสิ่งที่ประจักษ์ และที่ไม่ประจักษ์แก่ตา ข้าพเจ้าเชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์องค์พระเป็นเจ้าพระองค์เดียว ผู้ทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวของพระเจ้า ทรงกำเนิดจากพระบิดาก่อนทรงสร้างกัลปจักรวาลทั้งมวล ทรงเป็นพระเจ้ากำเนิดจากพระเจ้า แสงสว่างจากแสงสว่าง พระเจ้าแท้จากพระเจ้าแท้ ทรงกำเนิดไม่ใช่ทรงถูกสร้างขึ้น ทรงเป็นสาระเดียวกันกับพระบิดา พระองค์ทรงสร้างสรรพสิ่งพระองค์เสด็จลงมาแต่สวรรค์เพื่อมนุษย์ และเพื่อช่วยเราให้รอดพ้นทรงกำเนิดเป็นมนุษย์ โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ทางมารีย์สาวพรหมจารีย์เพื่อเรา ทรงสภาพมนุษย์ แล้วในสมัยที่ปอนทิอัสปิลาตปกครองนั้นเอง พระองค์ถูกตรึงที่ไม้กางเขนเพื่อเราทั้งหลาย พระองค์ทรงทนทุกข์ทรมานจนสิ้นพระชนม์ ทรงถูกบรรจุไว้ในอุโมงค์และในวันที่สามทรงฟื้นคืนพระชนม์ตามที่พระคริสตธรรม คัมภีร์ทำนายไว้พระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์ประทับ ณ เบื้องขวาของพระบิดา พระองค์จะเสด็จมาอีกด้วยพระสิริ เพื่อพิพากษาทั้งคนเป็น และคนตายพระราชอาณาจักรของพระองค์ไม่รู้สิ้นสุด ข้าพเจ้าเชื่อวางใจในพระวิญญาณบริสุทธิ์ องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ประทานชีวิต ผู้ทรงเป็นมาจากพระบิดา และพระบุตร ผู้ทรงรับการนมัสการ และการสรรเสริญพร้อมกับพระบิดา และพระบุตร พระองค์ได้ตรัสทางพวกผู้เผยพระวจนะ ข้าพเจ้าเชื่อมั่นในสากลคริสตจักรที่สืบจากอัครธรรมทูตคริสตจักรเดียว ข้าพเจ้ารับว่ามีพิธีบัพติศมาเพื่อการยกบาปแต่พิธีเดียว ข้าพเจ้าเชื่อมั่นในการคืนชีพของผู้ที่ตายแล้ว และในชีวิตโลกหน้า อาแมน”

หมวดที่ 3 การปกครอง
ข้อ 5 สิทธิอำนาจการปกครองมาจากพระเจ้า คือ พระบิดา พระบุตร พระวิญญาณบริสุทธิ์ ตามที่มีปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ พระคริสตเจ้าทรงตั้งคริสตจักรของพระองค์ไว้ และทรงเป็นพระประมุขของคริสตจักรทั้งมวล
ข้อ 6 กฎ ข้อบังคับหรือระเบียบต่างๆ ที่ตราขึ้นโดยสภาคริสตจักรในประเทศไทย คริสตจักรภาค และคริสตจักรท้องถิ่น ต้องตั้งอยู่บนรากฐานแห่งพระคริสตธรรมคัมภีร์
ข้อ 7 การลงโทษสมาชิกคริสตจักรผู้กระทำผิดต่อธรรมนูญ กฎ ข้อบังคับ หรือระเบียบต่างๆ ที่ได้ตราขึ้นจะลงโทษได้ทางด้านการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักคริสต์ศาสนา
ข้อ 8 การลงโทษให้ยึดหลักต่อไปนี้
8.1 ยึดตามหลักพระคริสตธรรมคัมภีร์
8.2 ความยุติธรรม
8.3 ความรัก
ข้อ 9 สภาคริสตจักรในประเทศไทยแบ่งการปกครองคริสตจักรออกเป็น 3 ระดับดังนี้
9.1 ระดับคริสตจักรท้องถิ่น ปกครองโดยคณะธรรมกิจคริสตจักรท้องถิ่น
9.2 ระดับคริสตจักรภาค ปกครองโดยคณะธรรมกิจคริสตจักรภาค
9.3 ระดับสภาคริสตจักร ปกครองโดยสมัชชาสภาคริสตจักรในประเทศไทย
ข้อ 10 สภาคริสตจักรในประเทศไทย มีศาสนศักดิ์ และตำแหน่ง ดังนี้
10.1 ศาสนศักดิ์
1) ศาสนาจารย์
2) ผู้ปกครอง
10.2 ตำแหน่ง
1) ศิษยาภิบาล
2) ครูศาสนา
3) อนุศาสนาจารย์
4) มัคนายก
5) ผู้ประกาศเผยแพร่พระกิตติคุณ
6) มิชชันนารี
7) อนุศาสก
ตำแหน่ง อื่นๆ ในคริสตจักร และหน่วยงานที่ไม่ขัดต่อธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ให้สภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นผู้กำหนดตามความเหมาะสม
ข้อ 11 ศาสนาจารย์ หมายความถึง ผู้ที่ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้าเพื่ออุทิศตนในการรับใช้พระองค์ในคริสต จักร และสังคม เป็นสมาชิกสมบูรณ์ของคริสตจักรท้องถิ่น มีความรู้ทางด้านคริสตศาสนศาสตร์ และได้รับการสถาปนาถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติของธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรใน ประเทศไทย และมีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมคณะธรรมกิจคริสตจักรภาคในฐานะสมาชิกสามัญ
ข้อ 12 ผู้ปกครอง หมายความถึง ผู้ที่ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้าเพื่ออุทิศตน รับใช้พระองค์ใน คริสตจักร และสังคม เป็นสมาชิกสมบูรณ์ของคริสตจักรท้องถิ่นมีความรู้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์อย่าง ดี ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมสัปปุรุษของคริสตจักรด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่ง หนึ่งของผู้มาประชุม ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประชุม และได้รับการสถาปนาถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติของธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรใน ประเทศไทย ให้ทำหน้าที่ปกครองคริสตจักรร่วมกับศิษยาภิบาล แต่ระยะเวลาประจำการนั้นให้คริสตจักรท้องถิ่นเป็นผู้กำหนด
ข้อ 13 ครูศาสนา หมายความถึงผู้ที่ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้าเพื่ออุทิศตนรับใช้พระองค์ใน คริสตจักร และสังคม เป็นสมาชิกสมบูรณ์ของคริสตจักรท้องถิ่น มีความรู้ทางด้านคริสตศาสนศาสตร์ และได้รับการแต่งตั้งถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติของธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรใน ประเทศไทย
ข้อ 14 อนุศาสนาจารย์ หมายความถึงผู้ที่ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้า เพื่ออุทิศตนรับใช้พระองค์ในคริสตจักร และสังคมโดยต้องเป็นผู้ที่สำเร็จหลักสูตรทางด้านคริสตศาสนศาสตร์จากสถาบัน ที่สภาคริสตจักรในประเทศไทยรับรอง และผ่านการสอบ
ศาสนาจารย์จากกรรมการศาสนศาสตร์ศึกษา แห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย และอยู่ในระหว่างการฝึกงานในหน้าที่ศาสนาจารย์
ข้อ 15 ศิษยาภิบาล หมายความถึง ผู้ที่ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้า เพื่ออุทิศตนรับใช้พระองค์ในคริสตจักรและสังคม โดยต้องเป็นศาสนาจารย์หรือครูศาสนา หรือผู้สำเร็จหลักสูตรทางด้านคริสตศาสนศาสตร์จากสถาบันที่สภาคริสตจักรใน ประเทศไทยรับรองเป็นสมาชิกสมบูรณ์ของคริสตจักรท้องถิ่น และได้รับเชิญเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะธรรมกิจคริสตจักรท้องถิ่นนั้นๆ โดยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสัปปุรุษ ด้วยคะแนนเสียงสองในสามของผู้มาประชุม ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประชุมแล้วนำเสนอคริสตจักรภาค เพื่อแต่งตั้งเป็นศิษยาภิบาล และมีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมคณะธรรมกิจคริสตจักรภาคในฐานะสมาชิกสามัญ
ข้อ 16 มัคนายก หมายความถึง ผู้ที่ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้า เพื่ออุทิศตนรับใช้พระองค์ในคริสตจักร และสังคม เป็นสมาชิกสมบูรณ์ของคริสตจักรท้องถิ่น มีความรู้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์อย่างดี ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมสัปปุรุษของคริสตจักร ด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาประชุมซึ่งถือว่าเป็นองค์ประชุม และได้รับการแต่งตั้งถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติของธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรใน ประเทศไทย
ข้อ 17 ผู้ประกาศเผยแพร่พระกิตติคุณ หมายความถึง ผู้ที่ได้รับการทรงเรียก จากพระเจ้า เพื่ออุทิศตนรับใช้พระองค์ในคริสตจักร และสังคมเป็นสมาชิกสมบูรณ์ของคริสตจักรท้องถิ่น ให้ออกไปทำพันธกิจด้านการเผยแพร่พระกิตติคุณนอกชุมชนของตน โดยคริสตจักรท้องถิ่น หรือคริสตจักรภาคเป็นผู้แต่งตั้งและส่งไป มีระยะเวลาในการปฏิบัติพันธกิจ
ข้อ 18 มิชชันนารี หมายความถึง คริสเตียนซึ่งเป็นสมาชิกสมบูรณ์ของคริสตจักรท้องถิ่นที่ได้รับการทรงเรียก จากพระเจ้าให้ออกไปทำพันธกิจด้านต่างๆ นอกชุมชนของตนโดยคริสตจักรท้องถิ่น คริสตจักรภาค หรือสภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นผู้แต่งตั้งและส่งไป มีระยะเวลาในการปฏิบัติพันธกิจ
ข้อ 19 อนุศาสก หมายความถึง ผู้ที่ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้าเพื่ออุทิศตนรับใช้พระองค์ในหน่วยงานของ สภาคริสตจักรในประเทศไทย เป็นสมาชิกสมบูรณ์ของคริสตจักรท้องถิ่น สำเร็จหลักสูตรทางด้านคริสตศาสนศาสตร์จากสถาบันที่สภาคริสตจักรในประเทศไทย รับรอง
ข้อ 20 คุณสมบัติการดำเนินการเพื่อสถาปนา หรือแต่งตั้ง หน้าที่ สิทธิ การพ้นจากตำแหน่ง และการพิจารณาความผิดของบุคคลซึ่งดำรงศาสนศักดิ์หรือตำแหน่งตามหมวดนี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบปฏิบัติของธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรใน ประเทศไทย

3. บทบาทของคริสต์ศาสนาต่อสังคมไทย
เป็นที่ยอมรับกัน ว่าคริสต์ศาสนาได้เผยแผ่สู่ประเทศไทยพร้อม ๆ กับการเข้ามาของชาวยุโรปชาติแรกคือ โปรตุเกส ในราว ค.ศ. 1511 โดยการเจริญสัมพันธไมตรีกับพระมหากษัตริย์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 2 นับตั้งแต่นั้นการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ได้เริ่มต้นขึ้นในแผ่นดินสยาม ระยะเวลาราว 500 ปีของการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทยแสดงถึงความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องและ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำพระศาสนจักรและราชอาณาจักรไทย การพบปะระหว่างพระสันตะปาปาและพระมหากษัตริย์ของไทยถือเป็นการแสดงถึง สัมพันธภาพและความเป็นมิตรระหว่างกัน จนมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและนครรัฐวาติกัน โดยพระสันตะปาปาส่งผู้แทนของพระองค์มาประจำประเทศไทย จนมีการก่อตั้งสถานเอกอัครราชทูตวาติกันประจำประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1969 และราชอาณาจักรไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตและส่งเอกอัครราชทูตแห่งประเทศ ไทยประจำนครรัฐวาติกันในปี ค.ศ. 1971
นอกจากบรรดามิชชันนารีจะเข้ามาเผย แผ่ศาสนาคริสต์และ พวกท่าน ได้นำศิลปวิทยาการจากยุโรปเข้ามาเผยแพร่ในแผ่นดินไทย พระมหากษัตริย์ไทยได้มีพระราชหฤทัยเมตตาแก่บรรดามิชชันนารี ทรงโปรดให้มีการประกาศศาสนาอย่างเสรี ทรงพระราชทานที่ดินและโปรดให้บรรดามิชชันนารีเข้ามาถวายงานในราชสำนักไทยใน หลายรัชสมัย แน่นอนว่าบรรดามิชชันนารีมีความปรารถนาให้คนไทย (สยาม) ได้เข้ามานับถือคริสต์ศาสนา และพยายามหาวิธีการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในหลายรูปแบบ แม้จะมีคนไทยที่เข้ามานับถือศาสนาคริสต์จำนวนไม่มากนัก แต่อิทธิพลของศาสนาคริสต์ผ่านทางการดำเนินชีวิตของบรรดามิชชันนารี ที่สะท้อนถึงคุณค่าตามหลักธรรมคำสอนของพระเยซูเจ้าผ่านทางรูปแบบของการ ศิลปวิทยาการ รวมถึงวิถีชีวิต การดำเนินงานในรูปแบบขององค์กรและสถาบันต่าง ๆ ที่เริ่มต้นขึ้นโดยบรรดามิชชันนารี ต่างสะท้อนถึงการนำหลักธรรมคำสอนของคริสต์ศาสนามาเผยแผ่แก่ชาวไทยในรูปแบบ ต่าง ๆ ดังตัวอย่างเช่น
3.1 บทบาทของศาสนาคริสต์ในสังคมไทยในด้านการอบรมศึกษา
สิ่ง ที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจนที่สุดที่บรรดามิชชันนารี (ทั้งคาทอลิกและโปรแตสเตนต์) ที่เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนามอบให้แก่แผ่นดินไทยคือ การจัดระบบการศึกษาแบบตะวันตก ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในปี ค.ศ. 1665 มีชื่อว่า General College ครั้นต่อมาไม่นาน มีการสร้างโรงเรียนควบคู่กับวัด เช่น ที่ภูเก็ตในปี ค.ศ. 1671 ที่ลพบุรีในปี ค.ศ. 1673 ที่บางกอกในปี ค.ศ. 1674 ที่พิษณุโลกในปี ค.ศ. 1675 และที่จันทบุรีในปี ค.ศ. 1707 โดยที่ได้รับพระราชทานที่ดินจากพระมหากษัตริย์ไทย (เป็นต้นในรัชสมัยสมเด็จพระนาราย์มหาราช) เพื่อใช้เป็นสถานที่อบรมศึกษาในศาสนาคริสต์ รวมถึงการถ่ายทอดศิลปวิทยาการสำหรับเด็กชายจากราชสำนัก และสถาบันการศึกษาได้พัฒนาและมีการเปิดโรงเรียนขึ้นตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย จวบจนยุคปัจจุบัน (ค.ศ. 2006) มีจำนวนสถาบันการศึกษา (ทั้งระดับโรงเรียน วิทยาลัยและมหาวิทยาลัย) ทั้งสิ้น 308 สถาบัน มีนักเรียน/นักศึกษาเฉพาะในปีการศึกษา 2548 ไม่น้อยกว่า 500,000 คน โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ “สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย”
นอก จากการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนทั้งระดับสายสามัญ สายอาชีวะและอุดมศึกษาแล้ว การศึกษาในสถาบันการศึกษาของคริสต์ศาสนามีการนำคุณค่าของหลักธรรมคำสอนใน คริสต์ศาสนามาเผยแผ่แก่นักเรียน นักศึกษาและบุคคลากรที่เกี่ยวกับกับการศึกษา โดย เฉพาะอย่างยิ่งการปลูกฝังนักเรียน นักศึกษาให้มีจิตสำนึกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะต่อคนยากจน ผู้ขัดสนและผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา โดยส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาของศาสนาคริสต์จัดให้นักเรียน นักศึกษามีโอกาสสัมผัสความจริงของชีวิต ในการมีส่วนร่วมในการให้การศึกษาและช่วยเหลือด้านวัตถุแก่เด็กยากจนตามแหล่ง เสื่อมโทรมและท้องถิ่นทุรกันดารในรูปของโรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง รวมถึงการพัฒนาแหล่งเสื่อมโทรมและชนบท
นอกเหนือจากการจัดการศึกษาในระบบ โรงเรียนดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีคณะนักบวชในคริสต์ศาสนาหลาย ๆ คณะได้อุทิศตนในการรับใช้สังคมไทยตามเจตนารมณ์ของคณะ โดยเฉพาะการจัดการศึกษานอกระบบ ซึ่งเป็นแบบให้เปล่า เช่น โรงเรียนสอนคนตาบอด หูหนวก ใบ้ที่จังหวัดนนทบุรีและชลบุรี โรงเรียนสำหรับคนพิการที่ชลบุรี โรงเรียนฝึกอาชีพสำหรับผู้ด้อยโอกาส ที่กรุงเทพฯ และขอนแก่น เป็นต้น
การอุทิศตนเพื่อการอบรมศึกษาของเยาวชน ไทย เพื่อให้เขาเป็นได้หลุดพ้นจากอวิชชาและความทุกข์ เป็นภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งที่บรรดามิชชันนารีคริสต์ศาสนาได้เริ่มต้นขึ้นใน ประเทศไทย และพระศาสนจักรในประเทศไทยได้สืบเนื่องต่อมาจวบจนปัจจุบัน
3.2 บทบาทของศาสนาคริสต์ในสังคมไทยในด้านงานสังคมเพื่อพี่น้องชาวไทย
สืบ เนื่องจากหลักธรรมคำสอนของศาสนาคริสต์ที่ว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ ทรงเป็นพระบิดาและทุกคนเป็นพี่น้องกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนของพระเยซูเจ้าในเรื่อง บัญญัติแห่งความรัก “จงรักพระเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจ และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” ทำให้พระศาสนจักรตระหนักถึงบทบาทของการเป็นผู้รับใช้พี่น้องชาวไทย โดยเฉพาะผู้ตกทุกข์ได้ยากและผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งมีจำนวนคนยากจนมากมาย การศึกษา สาธารณสุข ความพิการ โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ (โดยเฉพาะโรคเรื้อนและเอดส์) รวมถึงบรรดาคนยากจน ผู้หญิงและเด็กกำพร้ามักจะได้รับผลกระทบและถูกทอดทิ้ง เป็นผู้ถูกกระทำ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากสังคมอยู่เสมอ พระศาสนจักรฯ ประเทศไทยตระหนักถึงความเป็นพี่น้องกันตามคำสอนของพระเยซูเจ้าที่ให้เรา เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงได้ทุ่มเททำงานเพื่อบุคคลเหล่านี้ คือ พัฒนาคนให้มีความรู้ มีทักษะและสามารถดำเนินชีวิตของตนได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นอก จากนั้น สถานการณ์ในสังคมไทย ที่บ่อยครั้งมีพัฒาการแบบไม่สมดุล กล่าวคือ มีการพัฒนาที่เน้นด้านวัตถุจนละเลยคุณค่าด้านจิตใจ ส่งผลให้มีชาวไทยจำนวนมากต้องได้รับผลกระทบในหลายรูปแบบ ปัญหายาเสพติด ปัญหาสุขภาพกาย-จิต ฯลฯ เป็นสถานการณ์ที่ทำให้พระศาสนจักรฯ ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ มีการจัดตั้งคณะทำงานอย่างจริงจังและปรากฏออกมาในรูปแบบของสถาบันที่รองรับ ปัญหาดังกล่าว เช่น
– สมาคมนักบุญวินเซน เดอ ปอล.. เพื่อช่วยเหลือคนยากจนทั่วไป
– ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคคล คลองเตย.. เพื่อฝึกอาชีพ เปิดโรงเรียนวันละบาท คลีนิกในชุมชนแออัด
– ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด
– บ้านพักคนชรานักบุญคามิลโล สามพราน
– สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
– บ้านพักใจ … สำหรับช่วยเหลือผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์
– สถานพักฟื้นคนโรคเรื้อน
– ศูนย์บำบัดยาเสพติด
– โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ โรงพยาบาลคามิลเลียน ฯลฯ
– ฯลฯ
ตัวอย่าง สถาบันหรือองค์กรที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ภายใต้หลักธรรมคำสอนของศาสนาคริสต์นี้ ล้วนเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมถึงการตระหนักถึงคุณค่าแห่งความรักที่พระ เจ้าทรงมีต่อมนุษย์ ผ่านทางมือของมิชชันนารีและคริสตชนไทยยุคปัจจุบันโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา โดยมีการดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ตามโครงสร้างการบริหารงานของสภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิก ประเทศไทย (เฉพาะสถาบันในเครือคาทอลิก) และการกำกับดูแลขององค์กรกลางของศาสนาคริสต์ โปรแตสเตนต์ ตามสังกัดของสภาคริสตจักรในประเทศไทย สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย หรือ คริสตจักรเซเว่นเดย์ แอ๊ดเวนติสแห่งประเทศไทย ตามโครงสร้างตามระบบบริหารจัดการของแต่ละกลุ่มของศาสนาคริสต์ในประเทศไทย

4. สรุป
แม้ ว่าจำนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์ในประเทศไทยจะมีไม่มากนัก ถือได้ว่าเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมไทย แต่สิ่งหนึ่งที่คริสตชนไทยสำนึกเสมอคือ “การสำนึกว่าตนเองเป็นคนไทย” กล่าวคือ ความสำนึกในความรักชาติ รักสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ว่าคริสตชนไทยจะยึดหลักธรรมคำสอนของศาสนาคริสต์เป็นหลักในการดำเนินชีวิต แต่ความสำนึกถึงการเป็นคนไทย เรียกร้องให้คริสตชนไทยสำนึกถึงการรักความเป็นไทย ด้วยการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลในฐานะเป็น “คริสตชนชาวไทย” ที่บรรพบุรุษไทยได้ปลูกฝังในจิตสำนึกแห่งความเป็นไทยในคนรุ่นปัจจุบัน
ศาสนา คริสต์ในประเทศไทยอาจปรากฏเด่นชัดในรูปแบบขององค์กรหรือสถาบันต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงหลักธรรมคำสอนของพระเยซูเจ้า ด้วยสำนึกในพระดำรัสของพระเยซูเจ้าที่ว่า “สิ่งใดที่ท่านทำต่อพี่น้องที่ต่ำต้อยของเรา ก็เท่ากับท่านได้ทำกับเราเอง”

Sources: http://franciswut.blogspot.com/

One Response to “ศาสนาคริสต์บทที่ 6”

  1. stemis said

    ผมชอบเรื่องราวของประเทศไทยมากเลยครับ

Leave a comment