การเดินทางข้ามเวลา Time Travel
Posted by JinSon on June 16, 2010
การเดินทางข้ามเวลา
Time Travel
1. ความเป็นไปได้ของการเดินทางข้ามเวลา
2. ข้อโต้แย้งทางตรรกะต่อการเดินทางข้ามเวลา
3. ปฏิทรรศน์ของการเดินทางข้ามเวลา
4. การเดินทางข้ามเวลากับแนวคิดจักรวาลคู่ขนาน
เอกสารอ้างอิง
เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม
คำที่เกี่ยวข้อง
นับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ความเป็นไปได้ของการเดินทางท่องไปในกาลเวลาไม่ได้เป็นเพียงจินตนาการที่เพ้อ ฝันอีกต่อไป มโนทัศน์เรื่องการเดินทางข้ามเวลา (time travel) กลายเป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงอย่างจริงจังทั้งในทางวิทยาศาสตร์และปรัชญา ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (special theory of relativity) ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) แสดงถึงรูปแบบหนึ่งของการเดินทางข้ามเวลาไปสู่อนาคตโดยการเคลื่อนที่ด้วย ความเร็วสูง อันเป็นผลให้เวลาของผู้เดินทางเดินช้าลง (หรือ ที่เรียกว่า time dilation effect) ดังตัวอย่างปฏิทรรศน์คู่แฝด (twin paradox) ที่แฝดคนหนึ่งเดินทางออกไปในอวกาศด้วยจรวดความเร็วสูงและกลับมายังโลก (โดยอาจใช้เวลาในการเดินทางทั้งหมดเพียง 1 ปี) แต่กลับพบว่าฝาแฝดของตนที่อยู่บนโลกมีอายุมากขึ้นถึง 10 ปี เป็นต้น จนในปี ค.ศ.1949 คูร์ท เกอเดิล (Kurt Gödel) ได้ค้นพบรูปแบบของกาลอวกาศ (space-time) ในกรอบของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (general theory of relativity) ที่จะทำให้สามารถเดินทางกลับไปสู่อดีตได้ ซึ่งนี่เป็นความหมายของการเดินทางข้ามเวลาที่เราจะพิจารณากันในที่นี้ และเป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญและได้รับการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้าง ขวางในปัจจุบัน
1. ความเป็นไปได้ของการเดินทางข้ามเวลา
เมื่อเรากล่าวว่าการเดินทางข้ามเวลา (ในความหมายของการเดินทางกลับไปสู่อดีต) “เป็นไปได้” สิ่งที่ต้องแยกแยะให้ชัดเจนในเบื้องต้นคือเรากำลังพูดถึงความเป็นไปได้ใน ความหมายระดับใด นั่นคือ ความเป็นไปได้ในทางตรรกะ (logical possibility) ในแง่ที่เป็นมโนทัศน์ที่ไม่มีความขัดแย้งกันในตัวเอง (ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำหรับความเป็นไปได้ในระดับอื่นๆ) หรือความเป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์ (scientific possibility) ในแง่ที่สอดคล้องกับทฤษฎีฟิสิกส์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอยู่ในปัจจุบัน หรือความเป็นไปได้ในทางเทคโนโลยี (technological possibility) ในแง่ที่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้
เกอเดิล (Gödel, 1949) ได้แสดงถึงความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ของการเดินทางข้ามเวลา โดยวางอยู่บนสมมติฐานบางอย่างเกี่ยวกับโครงสร้างของจักรวาล นั่นคือ หากจักรวาลโดยรวมกำลังหมุนรอบตัวเองอยู่ เราสามารถมีโครงสร้างกาลอวกาศ (space-time structure) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ที่มีลักษณะซึ่งเรียกว่า closed time-like curves (CTC) ที่จะทำให้เราสามารถออกเดินทางด้วยยานอวกาศออกไปสู่อวกาศในระยะไกล และวนกลับมายังโลกที่ซึ่งเราจะพบว่าเป็นช่วงเวลาในอดีตก่อนที่เราจะออกเดิน ทางตั้งแต่ทีแรกนั้น ในจักรวาลที่มีลักษณะเช่นนั้น การเดินทางกลับไปสู่ช่วงเวลาใดๆ ของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มีความเป็นไปได้ที่ไม่แตกต่างไปจากการเดินทางไปสู่ตำแหน่งอื่นๆ ในอวกาศที่อยู่ห่างไกลออกไป (Gödel, 1949: 560) เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้น ขอให้พิจารณาภาพด้านล่างนี้
ภาพ “จักรวาลแบบเกอเดิล” จาก Quentin and Oaklander (1995: 204)
จากภาพข้างต้น เส้นแกนกลางของทรงกระบอกบ่งบอกถึงกรอบเวลาที่อ้างอิงบนโลก นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 – 1994 ยานอวกาศออกเดินทางจากโลกเมื่อปี ค.ศ.1992 จนพ้นไปจากแกนกลางของทรงกระบอก และค่อยๆ เดินทางย้อนกลับมายังโลกอีกครั้ง แม้ว่าในขณะบินด้วยยานอวกาศ เวลาของนักบินยังคงดำเนินไปตามปกติ เขายังคงมีอายุมากขึ้นตามระยะเวลาที่อยู่บนยาน แต่เขาจะพบว่าเวลาบนโลกที่จรวดเดินทางไปถึงนั้นคือปี ค.ศ.1990 ซึ่งเป็นช่วงเวลาในอดีตก่อนที่จะออกเดินทางตั้งแต่ต้น
นับตั้งแต่การค้นพบของเกอเดิลเป็นต้นมา การศึกษาปัญหาการเดินทางข้ามเวลาแบ่งได้เป็น 3 แนวทางหลัก แนวทางแรกเป็นการค้นหาโครงสร้างกาลอวกาศ (space-time structure) ที่มีลักษณะแบบ CTCs นอกเหนือจากแบบของเกอเดิล ทั้งนี้เนื่องจากหลักฐานทางจักรวาลวิทยาในปัจจุบันบ่งชี้ว่า จักรวาลโดยรวมไม่น่าจะกำลังหมุนรอบตัวเองอยู่ (แม้ว่าแต่ละกาแล็คซี่จะหมุนอยู่ก็ตาม) ในลักษณะที่เกอเดิลได้เสนอไว้ ในแง่นี้ จึงมีความพยายามที่จะหา CTCs รูปแบบอื่นที่สอดคล้องกับสภาพของจักรวาลที่เป็นจริงตามที่เราสามารถสังเกต ได้ (เช่น wormhole ที่เป็นเสมือนทางลัดที่เชื่อมระหว่างตำแหน่งในอวกาศ 2 ตำแหน่งที่อยู่ห่างไกลกัน และเชื่อกันว่าอาจเป็นทางเชื่อมระหว่างช่วงเวลาที่แตกต่างกันได้ด้วยเช่นกัน (โปรดดู Davies, 2001; Gott, 2002) โดยส่วนนี้จะเป็นงานวิจัยทางด้านฟิสิกส์ภาคทฤษฎี (theoretical physics) เป็นหลัก
แนวทางที่สองเป็นการวิเคราะห์ประเด็นทางความหมาย (semantic issue) ของมโนทัศน์อื่นที่เกี่ยวข้อง (เช่น เวลา สาเหตุ และการเดินทาง) ว่าจะยังคงเข้าใจได้ในแบบเดิมหรือไม่ในบริบทที่มีการเดินทางข้ามเวลาเข้ามา เกี่ยวข้อง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ถ้าการเดินทางข้ามเวลาเป็นไปได้ จะส่งผลทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนความหมาย (shift in the meanings) ของมโนทัศน์อื่นๆ ที่มีการถกเถียงกันอยู่แล้วในทางปรัชญาหรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อกังขาถึงนัยสำคัญของแนวทางการวิเคราะห์นี้ เนื่องจากคำถามหลักที่เราสนใจ (คือ การเดินทางข้ามเวลาเป็นไปได้หรือไม่) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนความหมายของมโนทัศน์ที่เกี่ยว ข้องด้วยหรือไม่
ส่วนแนวทางสุดท้ายเป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาจากปฏิทรรศน์ของการเดินทาง ข้ามเวลาทั้งจากฟิสิกส์และปรัชญา รวมถึงนัยสำคัญของปฏิทรรศน์ดังกล่าวต่อการปฏิเสธการมีโครงสร้างกาลอวกาศที่ ทำให้เกิด CTCs สำหรับใช้ในการเดินทางข้ามเวลา กล่าวคือ ปฏิทรรศน์ต่างๆ จะทำให้เราต้องสรุปว่าการเดินทางข้ามเวลาเป็นไปไม่ได้หรือไม่ และนั่นจะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่ารูปแบบกาลอวกาศบางรูปแบบที่ทำให้เกิดการเดินทาง ข้ามเวลาได้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่จริงด้วยหรือไม่ เพราะแม้เราอาจจะมีเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่า การเดินทางข้ามเวลาจะไม่เกิดขึ้นในโลกที่เป็นอยู่ (the actual world) แต่นี่ก็ยังไม่อาจใช้เป็นข้อสรุปที่เด็ดขาดได้ว่าเราไม่ได้กำลังอยู่ใน จักรวาลแบบที่เกอเดิลได้บรรยายไว้ เพราะเป็นไปได้ว่าการเดินทางข้ามเวลาในจักรวาลเช่นนั้น จำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาลจนกระทั่งไม่อาจเป็นไปได้ในทางเทคโนโลยี (Horwich, 1987)
ในที่นี้ เราจะพิจารณาถึงปฏิทรรศน์ของการเดินทางข้ามเวลาที่มีการถกเถียงในงานทาง ปรัชญาเป็นหลัก เพราะแม้ข้อพิสูจน์จากทฤษฎีสัมพัทธภาพข้างต้นจะแสดงถึงความเป็นไปได้ในทาง วิทยาศาสตร์ แต่ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในทางปรัชญาก็คือ เราจะอธิบายมโนทัศน์เรื่องการเดินทางข้ามเวลาให้มีความสอดคล้องกันในทาง ตรรกะได้อย่างไร โดยในเบื้องต้นจะเป็นการสรุปถึงข้อโต้แย้งพื้นฐานทางตรรกะที่มีต่อมโนทัศน์ เรื่องการเดินทางข้ามเวลาว่ามีความบกพร่องอย่างไร เพื่อนำไปสู่ปฏิทรรศน์ของการเดินทางข้ามเวลา ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน
2. ข้อโต้แย้งทางตรรกะต่อการเดินทางข้ามเวลา
โดยทั่วไป ข้อโต้แย้งต่อความเป็นไปได้ทางตรรกะของการเดินทางข้ามเวลาจะเป็นรูปแบบของ การอ้างเหตุผลทางอ้อม (indirect argument หรือที่เรียกว่า reductio ad absurdum) โดยเริ่มจากการสมมติให้การเดินทางข้ามเวลาเป็นไปได้ จากนั้นจึงพิจารณานัยที่ตามมา หากเกิดความขัดแย้งในตัวเอง (self-contradiction) นั่นก็จะเป็นเหตุผลที่ย้อนกลับไปแสดงว่าข้อสมมติที่ให้การเดินทางข้ามเวลา เป็นไปได้ตั้งแต่ต้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น หากการเดินทางข้ามเวลาเป็นไปได้ เวลา ณ จุดหมายปลายทางที่ไปถึงย่อมจะต้องแตกต่างไปจากเวลาที่ใช้ในการเดินทาง เราจะสามารถเดินทางข้ามช่วงเวลาหนึ่ง โดยใช้เวลาที่แตกต่างออกไปจากช่วงเวลาที่เราได้ก้าวข้ามไป อันดูเหมือนจะเป็นความขัดแย้งในตัวเอง อย่างชัดเจนในการบอกว่า ห้านาทีจากนี้ไป เราจะอยู่ที่อีกหนึ่งร้อยปีให้หลัง
อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งนี้ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากเราสามารถเข้าใจได้ว่าช่วงเวลาที่แตกต่างกันเป็นการนับเวลาที่ขึ้น อยู่กับกรอบการอ้างอิงที่ต่างกัน ดังที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเวลาในแต่ละกรอบการอ้างอิงไม่จำ เป็นต้องสอดคล้องกันเสมอไป เวลาที่นักเดินทางใช้ในการเดินทางข้ามเวลาเป็นเวลาที่วัดจากกรอบการอ้างอิง ของนักเดินทางเอง ในขณะที่เวลาที่นักเดินทางก้าวข้ามไปถึงนั้นเป็นเวลาที่ขึ้นอยู่กับกรอบการ อ้างอิงของโลก ดังนั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่ขัดแย้งในตัวเองที่นักเดินทางจะใช้เวลาที่นับในกรอบการอ้าง อิงของตนเพียงห้านาทีเพื่อก้าวข้ามเวลาบนโลกไปร้อยปี
ข้อโต้แย้งทางตรรกะอีกแบบหนึ่งคือ ปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอดีต (changing the past) บางคนอาจมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนักว่า ความเป็นไปได้ของการเดินทางข้ามเวลาจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอดีต ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเอง ทั้งนี้เพราะอดีตเป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เราไม่สามารถกลับไปสู่อดีตในความหมายของการกลับไปอยู่ในยุคสมัยที่ได้ผ่าน พ้นไปแล้วได้ เช่น เราไม่สามารถกลับไปสู่อดีตยุคอียิปต์โบราณและช่วยชาวอียิปต์สร้างปิรามิดได้ เพราะปิรามิดเหล่านั้นได้ถูกสร้างขึ้น เรียบร้อยแล้วในขณะที่เราไม่ได้อยู่ที่นั่น การเดินทางข้ามเวลาจะทำให้เกิดความขัดแย้งในตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทางตรรกะ นั่นคือ เราอยู่ที่นั่นและเราไม่ได้อยู่ที่นั่น เราได้ช่วยสร้างปิรามิดและเราไม่ได้ช่วยสร้างปิรามิด และนี่จึงทำให้การเดินทางข้ามเวลาเป็นไปไม่ได้ (Hospers, 1988: 136)
แน่นอนว่า ความคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอดีตข้างต้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเองอย่าง ชัดเจน แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการเดินทางข้ามเวลาไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยน แปลงอดีต หากการเดินทางข้ามเวลาเกิดขึ้นจริง นั่นเพียงแต่แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นนั้นได้รับอิทธิพลจาก เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นภายหลัง เช่น หากเราได้กลับไปในยุคอียิปต์โบราณจริง เราก็ได้อยู่ที่นั่นมาแล้วตั้งแต่ต้น และหากเราได้ช่วยสร้างปิรามิดในตอนที่ได้กลับไป เราก็ได้ช่วยสร้างปิรามิดเหล่านั้นตั้งแต่ ทีแรกที่ชาวอียิปต์ได้สร้างขึ้นมา ในกรณีเช่นนี้ การเดินทางข้ามเวลาไม่ได้ทำให้อดีตเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ควรเข้าใจเสียใหม่ว่า การเดินทางข้ามเวลาสามารถมีอิทธิพลต่ออดีต (influencing the past) ซึ่งไม่ได้เป็นความขัดแย้งทางตรรกะแต่อย่างใด (โปรดดู Horwich, 1975; Harrison, 1995)
3. ปฏิทรรศน์ของการเดินทางข้ามเวลา
โดยทั่วไป “ปฏิทรรศน์” ในทางปรัชญา เกี่ยวข้องกับการเสนอความคิดหรือข้ออ้างเหตุผลที่สมเหตุสมผล แต่นำมาซึ่งข้อสรุปที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ยอมรับกันอยู่โดยทั่วไป (ดังเช่นปฏิทรรศน์ของซีโนในเรื่องอคิลลิสวิ่งแข่งกับเต่า ที่อ้างเหตุผลว่าถ้าอคิลลิสต่อให้เต่าเริ่มต้นวิ่งนำหน้าไปก่อน ทุกครั้งที่อคิลลิสพยามยามวิ่งไปถึงจุดที่เต่าอยู่ เต่าก็จะเคลื่อนที่ไปจากจุดนั้นแล้ว ดังนั้นจึงสรุปว่าอคิลลิสจะไม่มีทางวิ่งไล่ทันเต่าได้ ซึ่งขัดแย้งกับสามัญสำนึกและประสบการณ์ของเรา) ในกรณีของการเดินทางข้ามเวลา ปัญหาปฏิทรรศน์ที่มีการถกเถียงกันอย่างมากแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบหลัก คือ 1) ปฏิทรรศน์คุณปู่ และ 2) ปฏิทรรศน์ความรู้
3.1 ปฏิทรรศน์คุณปู่
ชื่อเรียก “ปฏิทรรศน์คุณปู่” (Grandfather Paradox) ซึ่งกลายเป็นชื่อที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาการ เดินทางข้ามเวลา (ทั้งในทางฟิสิกส์และปรัชญา) อาจสืบย้อนกลับไปได้ถึงจดหมายฉบับหนึ่งที่ส่งถึงบรรณาธิการของ Astounding Stories ในปี 1933 ที่เขียนมาเสนอว่าวิธีที่จะพิสูจน์ว่าการเดินทางข้ามเวลาเป็นไปไม่ได้ ก็คือการชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่นักเดินทางข้ามเวลาย้อนเวลากลับไปฆ่าปู่ ของตนเอง (ก่อนที่ปู่จะให้กำเนิดพ่อของเขา) แต่ทั้งนี้ ปฏิทรรศน์คุณปู่ยังกินความถึงรูปแบบของสถานการณ์อื่นๆ ที่นักเดินทางข้ามเวลาเดินทางย้อนกลับไปในอดีตเพื่อทำบางสิ่งที่จะส่งผลให้ เกิดความขัดแย้งกับความเป็นจริงที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เช่น การฆ่าตัวเองในอดีต การทำลายยานพาหนะที่ใช้ข้ามเวลา เป็นต้น
ความสำเร็จของการกระทำเหล่านี้จะมีผล (effect) ที่ทำให้นักเดินทางข้ามเวลาไม่สามารถมีอยู่ได้ (ก่อนการเดินทางข้ามเวลา) ซึ่งเป็นการขัดแย้งกับลำดับของสาเหตุ (cause) ตั้งแต่ต้นที่นักเดินทางข้ามเวลาจะต้องมีอยู่ (ก่อนการเดินทางข้ามเวลา) จึงจะสามารถย้อนเวลากลับไปเพื่อกระทำการดังกล่าวนั้นได้ ตัวอย่างเช่น ถ้านักเดินทางข้ามเวลาย้อนเวลากลับไปฆ่าปู่ได้ เขาจะไม่มีอยู่และไม่อาจเดินทางย้อนเวลาได้ ถ้าเขาไม่ได้เดินทางย้อนเวลา ปู่ย่อมไม่ถูกฆ่า และเขาจะเกิดมาเพื่อย้อนเวลากลับไปฆ่าปู่ แต่ถ้าเขาฆ่าปู่ได้ เขาก็จะไม่มีอยู่ ….. และเป็นเช่นนี้ต่อไปไม่รู้จบ
บทความคลาสสิคที่ได้วิเคราะห์และแก้ปัญหาปฏิทรรศน์ของการเดินทางข้ามเวลาใน รูปแบบนี้ คือ “The Paradoxes of Time Travel” ของ เดวิด ลูอิส (Lewis, 1976) โดยลูอิสชี้ให้เห็นว่า ข้อโต้แย้งที่เป็นไปได้ที่จะแสดงว่าการเดินทางข้ามเวลาเป็นไปไม่ได้ในทาง ตรรกะ ไม่ได้อยู่ที่คำถามที่ว่านักเดินทางข้ามเวลาทำหรือไม่ได้ทำอะไร (ซึ่งนี่เป็นกรณีของข้อโต้แย้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงอดีตที่เราได้พิจารณาไป ก่อนหน้านี้) แต่อยู่ที่คำถามที่ว่าเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง (Lewis, 1976: 149) กล่าวคือ หากนักเดินทางข้ามเวลายังคงสามารถที่จะทำสิ่งต่างๆ ตามที่เขาสามารถทำได้ในเวลาปกติแล้ว เขาก็น่าจะยังคงสามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ (แม้ว่าในความเป็นจริงเขาจะไม่ได้ทำก็ตาม) ลูอิสยกตัวอย่างของหลานชายที่เกลียดปู่ผู้เป็นพ่อค้าอาวุธซึ่งเสียชีวิตไป ตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก ความเป็นไปได้ของการเดินทางข้ามเวลา จะทำให้หลานชายสามารถกลับไปในอดีตเพื่อฆ่าปู่ได้ แม้ว่าในความเป็นจริงเขาจะไม่ได้ฆ่าปู่ก็ตาม แต่การเดินทางข้ามเวลาก็ยังคงทำให้เกิดความขัดแย้งทางตรรกะของการที่ “หลานชายไม่ได้ฆ่าปู่แต่เขาสามารถทำได้” (เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์โดยปกติที่ใครๆ ก็ย่อมทำเช่นนั้นได้) ซึ่งขัดแย้งกับการที่ “หลาย ชายไม่ได้ฆ่าปู่และเขาไม่สามารถทำได้” (เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางตรรกะที่จะเปลี่ยนแปลงอดีต) (Lewis, 1976: 150)
ลูอิสเสนอทางแก้ปัญหาข้างต้นด้วยการแสดงให้เห็นว่าข้อสรุปทั้งสองข้อนี้ สามารถเป็นจริงได้พร้อมกัน เนื่องจากคำว่า “สามารถ” เป็นคำที่มีความหมายคลุมเครือ และทำให้ตีความได้ทั้งสองนัยดังเช่นข้อสรุปทั้งสองแบบข้างต้น แต่นั่นก็ไม่ได้แสดงว่ามีความขัดแย้งกันในทางตรรกะแต่อย่างใด กล่าวคือ การกล่าวว่าบางสิ่งสามารถเกิดขึ้นได้ หมายความว่าการเกิดขึ้นของสิ่งนั้นมีความเป็นไปได้ร่วมกันกับ (compossible with) ข้อเท็จจริงบางอย่าง ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านั้นถูกกำหนดจากบริบทแวดล้อม การที่หลานชายสามารถฆ่าปู่ได้นั้น ก็เป็นไปได้ร่วมกันกับข้อ เท็จจริงชุดหนึ่ง (ที่พิจารณาจากปัจจัยทั่วๆ ไป เช่น การมีโอกาสได้พบกันอีกครั้ง การมีแรงจูงใจ การมีอาวุธและความสามารถเพียงพอที่จะกระทำการนั้น เป็นต้น) ในขณะที่การที่หลานชายไม่สามารถฆ่าปู่ได้ ก็เป็นไปได้ร่วมกันกับข้อ เท็จจริงอีกชุดหนึ่งที่ครอบคลุมกว่า นั่นก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าปู่ของเขาไม่ได้ถูกฆ่าตาย (รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าปู่ได้ให้กำเนิดพ่อของเขา) ในแง่นี้ หลานชายจึงสามารถและไม่สามารถฆ่าปู่ของเขาได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการกำหนดขอบเขตของข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน เราจำเป็นต้องเลือกขอบเขตของข้อเท็จจริงที่จะใช้พิจารณาในการบอกว่าหลานชาย สามารถฆ่าปู่ได้หรือไม่ แต่เราไม่สามารถบอกได้ในคราวเดียวกัน (หรือจากข้อเท็จจริงชุดเดียวกัน) ว่าหลานชายสามารถและไม่สามารถฆ่าปู่ของเขาได้ ด้วยเหตุนี้ การเดินทางข้ามเวลาจึงไม่ได้มีผลที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางตรรกะแต่อย่างใด (Lewis, 1976: 150-151)
อย่างไรก็ตาม แม้ข้อเสนอข้างต้นจะแสดงถึงความเป็นไปได้ทางตรรกะของการเดินทางข้ามเวลา แต่ ฮอร์วิช (Horwich, 1987) ชี้ให้เห็นว่าเราอาจมีเหตุผลเชิงประจักษ์ในการที่จะสรุปได้ว่า การเดินทางข้ามเวลาจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง (แม้ว่าจะไม่มีความขัดแย้งทางตรรกะใดๆ ก็ตาม) ฮอร์วิชให้เหตุผลว่า ความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าของนักเดินทางข้ามเวลาที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ ที่เป็นปฏิทรรศน์ (เช่นความพยายามของหลานชายที่จะฆ่าปู่ของตนเอง) ก่อให้เกิดชุดของเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เช่น ความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรูปของการเปลี่ยนใจอย่างกะทันหัน การยิงพลาดเป้า การลื่นหกล้ม ฯลฯ
ประเด็นสำคัญของฮอร์วิชอยู่ที่ว่า เนื่องจากความสำเร็จในการพยายามที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นปฏิทรรศน์ จะทำให้เกิดความขัดแย้งในตัวเองขึ้น (นั่นคือ นักเดินทางจะทั้งมีอยู่และไม่มีอยู่) แต่ไม่มีโลกที่เป็นไปได้ใดๆ ที่จะมีความขัดแย้งในตัวเองได้ ดังนั้น เราจึงรู้ได้ ว่าความพยายามเหล่านั้นจะไม่มีวัน ทำได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ความพยายามเหล่านั้นเป็นการกระทำพฤติกรรมต่างๆ ที่ปกติเราสามารถกระทำได้อย่างง่ายดาย (เช่น การเหนี่ยวไกปืนเพื่อฆ่าปู่ของหลานชายในระยะประชิด) แม้ว่าการพยายามกระทำการใดๆ อาจล้มเหลวได้จากเหตุผลต่างๆ แต่ความล้มเหลวต่อเนื่องที่ยาวนานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (ในกรณีที่หลานชายยังคงพยายามฆ่าปู่ของตนเองอย่างไม่ลดละ) ได้ก่อให้สถานการณ์ที่เป็นความบังเอิญ (coincidences) ต่างๆ ซึ่งมาขัดขวางการกระทำเหล่านั้นอย่างไม่น่าเชื่อ และด้วยประสบการณ์ของเราต่อความบังเอิญดังกล่าวที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนั้น เราจึงมีเหตุผลที่ดีจะเชื่อว่าความล้มเหลวที่ต่อเนื่องเช่นนั้นเป็นสิ่งที่ ไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างสูง (highly improbable) (Horwich, 1987: 122)
ฮอร์วิช เห็นว่าความพยายามที่จะกระทำสิ่งที่เป็นปฏิทรรศน์ของของนักเดินทางข้ามเวลา (เช่น การฆ่าปู่ของตนเอง หรือการฆ่าตัวเองในอดีต) กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ความพยายามดังกล่าวล้มเหลวอย่างต่อเนื่องเสมอนั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกันในเชิงสาเหตุ เพราะไม่มีเหตุการณ์ใดเป็นสาเหตุ (หรือผล) ของอีกเหตุการณ์หนึ่ง และทั้งสองเหตุการณ์ก็ไม่ได้มีสาเหตุร่วมเดียวกัน (common cause) (Horwich, 1995: 263) ดังนั้น การเกิดขึ้นมาคู่กันของเหตุการณ์สองแบบนี้จึงไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างสูง และจากประสบการณ์ของเราต่อความไม่น่าจะเป็นไปได้ของความบังเอิญเช่นนี้ จึงทำให้สามารถอนุมานกลับไปได้ว่า การเดินทางข้ามเวลาซึ่งเป็นสิ่งที่นำมาสู่สถานการณ์ดังกล่าว จึงย่อมเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างสูงในโลกที่เป็นอยู่นี้ด้วยเช่น กัน
อย่างไรก็ตาม สมิธ (Smith, 1997) โต้แย้งข้อเสนอข้างต้นของฮอร์วิชไว้ดังนี้ ข้อสรุปที่ว่าการเดินทางข้ามเวลาไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ วางอยู่บนฐานของการที่มีความบังเอิญต่างๆ ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ (improbable coincidences) ซึ่งไปละเมิดหลักการที่ฮอร์วิชเรียกว่า “Principle of V-Correlation” (PVC) โดยหลักการนี้มีอยู่ว่า คู่ของเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม จะมีการเชื่อมโยงกันด้วยการเป็นสาเหตุโดยตรงต่อกัน หรือไม่เช่นนั้นก็มีสาเหตุร่วมเดียวกัน เราไม่เคยสังเกตพบคู่ของเหตุการณ์ที่จะถูกเชื่อมโยงกันด้วยเหตุการณ์ที่ตาม มาภายหลัง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การรับหลักการดังกล่าวทำให้ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะมีเหตุการณ์ใดๆ ถูกเชื่อมโยงกันด้วยผลร่วมอันเดียวกัน (common effect) ในกรณีตัวอย่างปฏิทรรศน์คุณปู่ การพยายามฆ่าปู่ของตนเอง กับสถานการณ์ที่เป็นความบังเอิญต่างๆ ที่เป็นตัวมาขัดขวางการกระทำนั้น (เช่น การที่ปืนขัดข้องกะทันหัน การยิงผิดเป้า การลื่นล้ม ฯลฯ) ดูเหมือนจะถูกเชื่อมโยงกันด้วยผลร่วมที่ตามมาทีหลังอันเดียวกัน นั่นคือ ความมีอยู่ของนักเดินทางข้ามเวลาภายหลังจากนี้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดหลักการ PVC ดังกล่าว อันทำให้ฮอร์วิชเห็นว่าการเดินทางข้ามเวลาเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
แต่สมิธแย้งว่าหลักการ PVC เป็นหลักการที่พูดถึงสิ่งที่ถูกสังเกตมาแล้วเท่านั้น การเกิดขึ้นของการเดินทางข้ามเวลาอาจก่อให้เกิดความบังเอิญที่ไม่น่าจะเป็น ไปได้ แต่การไม่มีความบังเอิญดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบันไม่ได้ช่วยยืนยันอะไรเกี่ยว กับโอกาสที่จะไม่มีการเกิดขึ้นของการเดินทางข้ามเวลาในภายภาคหน้า นอกจากนี้ สมิธยังเห็นว่าข้อโต้แย้งจากความบังเอิญที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เป็นเหตุผลที่ มีข้อบกพร่องตั้งแต่ต้น เพราะในการที่จะทำให้เกิดผลที่เป็นความบังเอิญที่ไม่น่าจะเป็นได้อย่างสูง ออกมานั้น จะต้องมีการนำเข้าความบังเอิญที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ในปริมาณที่สูงมากด้วย เช่นกัน นักเดินทางข้ามเวลาจะต้องมีชุดของความเชื่อที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เช่น เชื่อว่าสามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ เชื่อว่าถ้าฆ่าปู่สำเร็จแล้วปู่จะสามารถฟื้นคืนชีพได้ หรือจำไม่ได้ว่าคนที่พบนั้นคือปู่ของตนเอง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม เราอาจมีข้อสงสัยต่อข้อโต้แย้งของสมิธได้ว่า 1) นักเดินทางข้ามเวลาทุกคนที่ต้องการก่อให้เกิดผลที่เป็นปฏิทรรศน์ ต้องมีความเชื่อที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เช่นนั้นจริงหรือ 2) แม้จะยอมรับว่าต้องมีการนำบางสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เข้ามาก่อนเพื่อที่จะ นำไปสู่ผลที่เป็นความบังเอิญที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ความไม่น่าจะเป็นไปได้ในส่วนแรกเป็นความไม่น่าจะเป็นไปได้ ที่มีปริมาณมากเท่ากับความไม่น่าจะเป็นไปได้ในส่วนหลังหรือไม่ (Richmond, 2003: 301
3.2 ปฏิทรรศน์ความรู้
ปฏิทรรศน์ของการเดินทางข้ามเวลาในรูปแบบที่สอง ซึ่งบางคนอาจเรียกชื่อตามตัวอย่างที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาว่า “ปฏิทรรศน์ความรู้” (Knowledge Paradox) เป็นสถานการณ์ที่การเดินทางข้ามเวลาก่อให้เกิดมีบางสิ่งขึ้นมาโดยไม่มี สาเหตุ หรือไม่อาจอธิบายที่มาได้ ตัวอย่างเช่น หากการเดินทางข้ามเวลาเป็นไปได้ นักเดินทางข้ามเวลาจะสามารถกลับไปในอดีตและให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการสร้าง ยานเวลา (time machine) กับตัวเองในอดีต ในกรณีเช่นนี้ ความรู้ดังกล่าวไม่ได้มาจากนักเดินทางข้ามเวลา เพราะเขาเพียงแต่จดจำความรู้นั้นจากอดีตที่ผ่านมา และตัวเขาในอดีตก็ได้ความรู้นั้นมาจากการพูดคุยกับนักเดินทางข้ามเวลาซึ่ง เป็นตัวเขาเองในอนาคต เราจึงไม่อาจอธิบายได้ว่าความรู้ที่ว่านี้มีต้นกำเนิดมาได้อย่างไร หรือใครเป็นคนแรกที่ได้คิดขึ้น เพราะหากไม่มีผู้คิดค้นขึ้นมา ก็ไม่น่าจะเกิดการเดินทางข้ามเวลาได้ตั้งแต่ต้น
นอกจากนี้ รูปแบบของปฏิทรรศน์ความรู้ยังครอบคลุมถึงกรณีของสถานการณ์ที่การเดินทางข้าม เวลาก่อให้เกิดบางสิ่งขึ้นมาในลักษณะที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากสิ่งอื่นนอก เหนือจากตัวมันเอง เช่น การที่นักเดินทางข้ามเวลาได้พบยานเวลาโดยบังเอิญ และใช้ยานเวลานั้นในเวลาต่อมาเพื่อย้อนกลับเอาไปทิ้งไว้ให้ตัวเองในอดีต ซึ่งนั่นทำให้ยานเวลาดังกล่าวไม่ได้ถูกสร้างขึ้น ณ ช่วงเวลาใดๆ เลย การเกิดมีขึ้นของยานเวลาเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับตัวมันเองอย่างสิ้นเชิง ในเรื่องสั้น All You Zombie ของ Robert Heinlein ได้เขียนถึงกรณีที่คล้ายกันนี้ หากแต่เปลี่ยนจากวัตถุกายภาพเป็นมนุษย์แทน โดยตัวเอกของเรื่องได้เดินทางย้อนเวลากลับไปกลับมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน จนในท้ายที่สุดค้นพบว่าตนเองเป็นทั้งพ่อและแม่ผู้ให้กำเนิดตนเองตั้งแต่ต้น (โปรดดู Harrison, 1979; Levin, 1980; Godfrey-Smith, 1980)
เราอาจกล่าวโดยรวมได้ว่า ปฏิทรรศน์ความรู้ในการเดินทางข้ามเวลาเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการวนกลับมา เป็นสาเหตุของตัวเอง (causal loop) โดยไม่อาจอธิบายที่มาที่ไปหรือจุดเริ่มต้นได้ แม้ว่าจากตัวอย่างต่างๆ ข้างต้นจะนำมาซึ่งผลที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ แต่นั่นก็ไม่ได้แสดงถึงความเป็นไปไม่ได้ทางตรรกะของการเดินทางข้ามเวลา เพราะไม่มีกรณีใดเลยที่เป็นความขัดแย้งในตัวเอง ลูอิสเองก็เห็นว่าการวนกลับเชิงสาเหตุดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่แปลก แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะความแปลกที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีความแตกต่างไปมากนักจากสิ่งซึ่งไม่สามารถ อธิบายได้ที่เราคุ้นเคยกัน เช่น พระเจ้า บิ๊กแบง การมีอดีตที่ไม่สิ้นสุดของจักรวาล ที่ล้วนเป็นสิ่งซึ่งไม่มีสาเหตุและไม่อาจอธิบายได้ หากเรายอมรับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ การวนกลับเชิงสาเหตุที่อธิบายไม่ได้ของการเดินทางข้ามเวลาก็คงเป็นสิ่งซึ่ง ไม่ยากเกินไปที่จะยอมรับได้เช่นกัน (Lewis, 1976: 149)
ข้อโต้แย้ง ณ จุดนี้ อาจพิจารณาจากความเข้าใจเกี่ยวกับมโนทัศน์เรื่องการเป็นสาเหตุ (causation) ดังที่เมลเลอร์ (Mellor, 1998) เห็นว่าการเดินทางข้ามเวลาเกี่ยวพันกับเรื่องการเป็นสาเหตุแบบย้อนกลับ (backward causation) ซึ่งทำให้เกิดการวนกลับเชิงสาเหตุอย่างจำเป็น ข้อเสนอที่สำคัญของเมลเลอร์คือ สาเหตุ (cause) คือเหตุการณ์ที่เพิ่มความน่าจะเป็นของการเกิดผล (effect) แต่ในการวนกลับเชิงสาเหตุนั้น ทุกเหตุการณ์จะกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุของตัวมันเอง และเนื่องจากผล (effect) ไม่อาจเพิ่มความน่าจะเป็นให้กับการเกิดขึ้นของสาเหตุได้ เหตุการณ์ใดๆ ในการการวนกลับเชิงสาเหตุจึงไม่อาจเพิ่มความน่าจะเป็นให้กับการเกิดขึ้นของ เหตุการณ์นั้นๆ (ซึ่งเป็นสาเหตุของตัวมันเอง) ได้ การวนกลับเชิงสาเหตุจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ การเดินทางข้ามเวลาจึงเป็นไปไม่ได้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเป็นสาเหตุยังเป็นมโนทัศน์ที่ถกเถียงกันอยู่ในทางปรัชญา และคงไม่อาจหาข้อสรุปได้โดยง่าย การใช้แนววิเคราะห์การเป็นสาเหตุในแบบข้างต้นเพื่อปฏิเสธความเป็นไปได้ของ การเดินทางข้ามเวลาจึงไม่อาจถือเป็นข้อยุติได้เช่นกัน
4. การเดินทางข้ามเวลากับแนวคิดจักรวาลคู่ขนาน
นอกจากแนวทางการแก้ปัญหาปฏิทรรศน์ที่ได้อภิปรายไปข้างต้นแล้ว ยังมีข้อเสนอถึงทางออกของปฏิทรรศน์ด้วยการตีความมโนทัศน์เรื่องการเดินทาง ข้ามเวลาในความหมายใหม่ ในบทความ “The Quantum Physics of Time Travel” ด๊อยทช์และล็อควูด (Deutsch and Lockwood, 1994) ได้เสนอรูปแบบของการเดินทางข้ามเวลาบน พื้นฐานของการมีจักรวาลที่เป็นไปได้อื่นๆ โดยอาศัยการตีความหลายจักรวาลของกลศาสตร์ควอนตัม (many-universe interpretation of quantum mechanics ที่เสนอขึ้นโดย Hugh Everett III ในปี ค.ศ.1957) เพื่อเป็นทางออกของปฏิทรรศน์ต่างๆ ของการเดินทางข้ามเวลา ตามความคิดนี้ นักเดินทางข้ามเวลาไม่ได้เดินทางกลับไปสู่อดีตของโลกที่ผ่านมาในจักรวาลของ เขา แต่เป็นโลกในจักรวาลอื่นที่เป็นไปได้ ซึ่งมีอยู่คู่ขนานกันไปกับจักรวาลของนักเดินทาง ดังนั้น หากนักเดินทางข้ามเวลาพยายามฆ่าปู่ของตัวเอง (หรือถ้าจะให้ถูกแล้ว ควรบอกว่าเป็นปู่ของคนที่จะได้เติบโตขึ้นมาเป็นเหมือนเขาในจักรวาลนั้น หากว่าปู่คนนั้นไม่ได้ถูกฆ่าเสียก่อน) เขาย่อมจะสามารถทำได้โดยไม่เกิดความขัดแย้งในตัวเอง เพราะหากว่านักเดินทางทำได้สำเร็จ นั่นก็เพียงแต่ทำให้จักรวาลนั้นจะไม่มีคนที่เหมือน เขาเกิดขึ้นมาได้เท่านั้น ในกรณีของปฏิทรรศน์ความรู้ นักเดินทางข้ามเวลาก็เพียงแต่ทำให้เกิดมี สิ่งของหรือความรู้ใหม่ที่ไม่สามารถอธิบายความมีอยู่ของ สิ่งนั้นได้จากจักรวาลที่เขาเดินทางไปถึงเท่านั้น แต่การสร้างสรรค์ก็ยังคงมีอยู่จริงและสามารถอธิบายได้จากจักรวาลที่ นักเดินทางได้เดินทางจากมา
แต่ปัญหาหนึ่งของข้อเสนอนี้คือ หากนักเดินทางข้ามเวลายังคงสามารถเดินทางกลับไปกลับมาระหว่างจักรวาลต่างๆ และไปยังช่วงเวลาต่างๆ ในแต่ละจักรวาลนั้นๆ ได้ ปัญหาในรูปแบบปฏิทรรศน์คุณปู่และปฏิทรรศน์ความรู้ ก็จะยังคงมีอยู่เช่นเดิม ตัวอย่างเช่น นักเดินทางข้ามเวลา เดินทางจากจักรวาล A ไปยังปี ค.ศ. 1900 ของจักรวาล B (หลังจากที่เคยเดินทางไปยังช่วงเวลาหลังจากนั้นของจักรวาล B มาแล้ว และรู้ว่าตัวเขาในจักรวาล B นั้นมีชีวิตอยู่) เพื่อไปฆ่าปู่ของบุคคลที่จะเกิดขึ้นมาเป็นตัวเขาในจักรวาลนั้น ซึ่งนี่ก็จะย้อนกลับไปที่ปัญหาที่เริ่มถกเถียงมาจากข้อเสนอของลูอิสอีก ครั้ง ในแง่นี้ การที่เราจะใช้แนวคิดการมีจักรวาลคู่ขนาน เพื่อแก้ (หรือเลี่ยงปัญหา) ปฏิทรรศน์ต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์นั้น เราอาจต้องยอมรับว่าการเดินทางข้ามเวลาตามแนวคิดนี้ได้สร้างจักรวาล คู่ขนานขึ้นมาใหม่เสมอ และจึงมีจักรวาลต่างๆ มากมายพอๆ กับที่การเดินทางข้ามเวลาได้เกิดขึ้น (และนักเดินทางข้ามเวลาไม่อาจย้อนกลับไปที่จักรวาลเดิมที่มีอยู่ก่อนหน้าได้ อันทำให้ไม่สามารถก่อผลที่เป็นปฏิทรรศน์ใดๆ ได้) แต่การเดินทางข้ามจักรวาลเช่นนี้ดูจะไม่ใช่การเดินทางข้ามเวลาในความหมายที่ เราเข้าใจหรือต้องการให้เป็น เนื่องจากจุดหมายปลายทางที่ไปถึง ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เป็นอนาคตหรืออดีตที่มีความต่อเนื่องในเชิงสาเหตุกับช่วง เวลาปัจจุบันที่เป็นจุดเริ่มต้นของการออกเดินทาง (โปรดดู Abbruzzese, 2001)
อย่างไรก็ตาม ด๊อยทช์และล็อควูด เห็นว่าประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับการให้คำนิยามที่แน่นอนของการเดินทางข้าม เวลาอาจไม่มีนัยสำคัญมากนัก เนื่องจากสิ่งที่ควรพิจารณาเป็นลำดับแรกน่าจะอยู่ที่ตัวความจริงของข้อเสนอ ที่มาจากทฤษฎีมากกว่า เพราะหากว่าภาพของจักรวาลที่หลากหลายเป็นสิ่งเกิดขึ้นตรงกับความ เป็นจริงแล้ว นั่นย่อมแสดงว่าข้อโต้แย้งที่ผ่านมาของเรื่องการเดินทางข้ามเวลาล้วนวางอยู่ บนรูปแบบของความเป็นจริงทางกายภาพที่ไม่ถูกต้อง (Deutsch and Lockwood, 1994: 56) กล่าวคือ หากรูปแบบการเดินทางข้ามเวลาบนฐานของการมีจักรวาลคู่ขนานที่อาศัย การตีความของกลศาสตร์ควอนตัม สามารถพิสูจน์ได้ว่าถูกต้องตรงกับความเป็นจริง (reality) ของโลกกายภาพที่เป็นอยู่ นั่นก็จะเป็นประเด็นทางความหมาย (semantic issue) ที่เราต้องตัดสินใจกันต่อไปว่า เราจะให้นิยามกับคำว่าจักรวาล เวลา การเป็นสาเหตุ การเดินทางข้ามเวลา ฯลฯ เปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่อย่างไร
พรเทพ สหชัยรุ่งเรือง (ผู้เรียบเรียง)
เอกสารอ้างอิง
·
Abbruzzese, John. 2001. On Using the Multiverse to Avoid the Paradoxes of Time Travel. Analysis 61: 36-38.
·
Davies, Paul. 2001. How to Build a Time Machine. London: Allen Lane, The Penguin Press.
·
Deutsch, David and Michael Lockwood. 1994. The Quantum Physics of Time Travel. Scientific American 270: 50-56.
·
Gödel, Kurt. 1949. A Remark about the Relationship between Relativity Theory and Idealistic Philosophy. In Paul Arthur Schilpp, ed. Albert Einstein: Philosopher-Scientist, pp. 557-562. La Salle, IL: Open Court.
·
Godfrey-Smith, William. 1980. Travelling in Time. Analysis 40: 72-73.
·
Gott, J. Richard. 2002. Time Travel in Einstein’s Universe: The Physical Possibilities of Travel Through Time. London: Phoenix.
·
Harrison, Jonathan. 1979. Analysis ‘Problem’ No. 18. Analysis 39: 65-66.
·
Harrison, Jonathan. 1995. Dr Who and the Philosophers, or Time Travel for Beginners. In Essays on Metaphysics and the Theory of Knowledge: Volume I, pp. 342-365. Alershot: Averbury.
·
Horwich, Paul. 1975. On Some Alleged Paradoxes of Time Travel. The Journal of Philosophy 72: 432-444.
·
Horwich, Paul. 1987. Asymmetries in Time. Cambridge, MA: The M.I.T. Press.
·
Horwich, Pual. 1995. Closed Causal Chains. In Steven F. Savitt, ed. Time’s Arrows Today: Recent Physical and Philosophical Work on the Direction of Time, pp. 259-267. Cambridge: Cambridge University Press.
·
Horwich, Paul. 1998. Time Travel. Routledge Encyclopedia of Philosophy 9: 417-419.
·
Hospers, John. 1988. An introduction to Philosophical Analysis. Third edition. Englewood, New Jersey: Prentice Hall.
·
Levin, Margarita R. 1980. Swords’ Points. Analysis 40: 69-70.
·
Lewis, David. 1976. The Paradoxes of Time Travel. American Philosophical Quarterly 13: 145-152.
·
Mellor, D. H. 1998. Real Time II. London: Routledge.
·
Richmond, Alasdair. 2003. Recent Work on Time Travel. Philosophical Books 44: 297-309.
·
Smith, Nicholas J. J. 1997. Bananas Enough for Time Travel. British Journal for Philosophy of Science 48: 363-389.
·
Smith, Quentin and L. Nathan Oaklander. 1995. An Introduction to Metaphysics. London: Routledge.
เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม
·
Arntzenius, Frank and Tim Maudlin. 2005. Time Travel and Modern Physics. In Edward N. Zalta (ed.). The Stanford Encyclopedia of Philosophy. URL=<http://plato.stanford.edu/archives/sum2005/entries/time-travel-phys/>. (พิจารณาข้อจำกัด (constraint) ในการเดินทางข้ามเวลาที่จำเป็นต้องมีเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นของปฏิทรรศน์ จากแง่มุมของฟิสิกส์สมัยใหม่)
·
Earman, John. 1995. Recent Work on Time Travel. In Steven F. Savitt, ed. Time’s Arrows Today: Recent Physical and Philosophical Work on the Direction of Time, pp. 268-310. Cambridge: Cambridge University Press. (อภิปรายข้อถกเถียงต่างๆ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ทางฟิสิกส์ของการเดินทางข้ามเวลา)
·
Gödel, Kurt. 1949. An Example of n New Type of Cosmological Solution to Einstein’s Field Equations of Gravitation. Reviews of Modern Physics 21: 447-450. (เสนอการแก้สมการ field equation ของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ที่แสดงถึงกาลอวกาศที่มี closed time-like curve สำหรับการเดินทางข้ามเวลา)
·
Hawking, Stephen. 1992. Chronology Protection Conjecture. Physical Review D 46: 603-611. (เสนอว่ากฎทางฟิสิกส์จะป้องกันการเกิดขึ้นของ closed time-like curve)
·
Nahin, Paul J. 1999. Time Machines: Time Travel in Physics, Metaphysics, and Science Fiction. Second edition. New York: Springer-Verlag. (รวบรวมข้อถกเถียงและเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเดินทางข้ามเวลา ทั้งจากงานทางปรัชญา วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ รวมถึงจากนิยายวิทยาศาสตร์ ไว้อย่างครบถ้วน)
คำที่เกี่ยวข้อง
เวลา, การเป็นสาเหตุ
Time, Causation
แหล่งที่มา http://www.philospedia.net/
Leave a Reply